แผนการเงิน...พิมพ์เขียวของชีวิต

แผนการเงิน...พิมพ์เขียวของชีวิต

ชิดชนก ธรรมกิตติคุณ CFP® นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

ทุกช่วงชีวิตของคนเราแทบไม่เคยห่างจากคำว่าวางแผนเลย แม้แต่เรื่องที่ทำกันอยู่เป็นประจำ เช่น พรุ่งนี้จะมีนำเสนองานนอกสถานที่ เวลา 8.30 น. ก็ต้องเริ่มวางแผนว่าจะตื่นนอนกี่โมง เดินทางด้วยวิธีไหนใช้เวลาน้อยที่สุด เพียงแต่หลายคนอาจจะไม่รู้สึกว่านั่นคือการวางแผนเพราะทำเรื่องเหล่านี้จนกลายเป็นความเคยชิน แต่พอพูดถึงเรื่องวางแผนการเงิน ทำไมจึงดูเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน นั่นก็เพราะการวางแผนการเงินเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยชิน แต่ความจริงแล้วการวางแผนการเงิน เป็นการดึงสิ่งที่คาดหวัง สิ่งที่กังวลอยู่ในใจ ในความคิดของคนๆหนึ่ง ให้ออกมาเป็นรูปธรรม ครอบคลุมเรื่องราวทั้งหมดของชีวิต ตั้งแต่วันที่เริ่มวางแผนจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย หรือหากจะเรียกว่าเป็น “พิมพ์เขียวของชีวิต” ก็คงได้ การวางแผนการเงินจึงมีความสำคัญมาก ลองดูกันว่าแผนการเงินประกอบไปด้วยแผนอะไรบ้าง

2_8

  1. แผนค่าใช้จ่าย คนส่วนใหญ่มักจะรู้ว่ามีรายรับเดือนละเท่าไหร่ แต่ถ้าถามว่ามีรายจ่ายเดือนละเท่าไหร่ก็มักจะตอบไม่ค่อยได้ วิธีที่จะทำให้รู้ว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับ มีการเก็บออม และมีค่าใช้จ่ายเท่าใดนั้น ก็คือการจดบันทึกบัญชีรับ-จ่าย  ประโยชน์ของการบันทึกรายการรับ-จ่าย จะทำให้เห็นเส้นทางเข้า-ออกของเงิน ยิ่งทางเข้าของเงินมีทางเดียว แต่ทางออกมีหลายทาง หรือออกไปจนหมดจนไม่เหลือเก็บเลย นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเงิน และเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางการเงินได้ในอนาคต เรื่องแบบนี้ยิ่งรู้เร็วก็จะแก้ไขได้เร็ว ซึ่งทำได้โดยการตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงหรือการเพิ่มรายได้ 
  2. แผนบริหารความเสี่ยง เป็นการพิจารณาเรื่องความไม่แน่นอนทั้งด้านชีวิต ทรัพย์สิน และรายได้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น ประสบอุบัติเหตุ ทำให้ขาดรายได้ เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในวงเงินที่สูง หรือจากไปอย่างกะทันหัน หากเรามีการวางแผนบริหารความเสี่ยงโดยการโอนความเสี่ยงด้วยการทำประกันไว้ เงินชดเชยต่างๆ จากบริษัทประกันจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด จึงถือว่าเป็นแผนที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการวางแผนการเงิน
  3. แผนลงทุน จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายเกษียณหรือเป้าหมายย่อยอื่นๆ เช่น การศึกษาลูก เพื่อแต่งงาน ฯลฯ ได้เร็วขึ้น เพราะอัตราผลตอบแทนจะเป็นตัวเร่งความเร็วในการเติบโตของเงินที่มีอยู่ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินเต็มจำนวนที่ต้องการ ก่อนลงทุนทุกครั้งควรประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ และเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่จะลงทุนนั้นคืออะไร มีความเสี่ยงและข้อจำกัดอย่างไรบ้าง การบริหารการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ (Portfolio) ที่ดี จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ และทำให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างปลอดภัย
  4. แผนเกษียณ เป็นอีกแผนที่ควรให้ความสำคัญมาก เพราะเรามีอายุทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ปี แต่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 74 ปี (ข้อมูลจากตารางมรณะไทย ปี 2560) แสดงว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีชีวิตหลังเกษียณโดยไม่มีรายได้อีกไม่น้อยกว่า 19 ปี การวางแผนเกษียณจึงควรเริ่มให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นเราอาจยังต้องทำงานหลังเกษียณเพราะมีเงินไม่พอใช้
  5. แผนบริหารภาษี แผนภาษีส่วนหนึ่งจะเป็นผลพวงจากการวางแผนบริหารความเสี่ยง แผนลงทุน และแผนเกษียณ เพราะเบี้ยประกันชีวิต ประกันบำนาญ และเงินลงทุนในกองทุนรวม LTF/RMF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ในการวางแผนภาษีอาจจะพิจารณาถึงประเภทของเงินได้ การกระจายหน่วยภาษี การนำเงินได้เข้าประเทศ รวมถึงสิทธิต่างๆที่กรมสรรพากรกำหนด เพื่อเป็นเครื่องมือในการวางแผนภาษีให้เกิดประสิทธิภาพและถูกกฎหมาย เพราะภาษีถือเป็นรายจ่าย หากสามารถบริหารจัดการให้จ่ายน้อยลงได้ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนเงินในกระเป๋านั่นเอง
  6. แผนมรดก หากวางแผนดีจะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สินมรดก และความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นหลังการจากไปของเจ้ามรดก และทำให้มรดกตกทอดไปสู่ทายาทตามเจตนารมณ์

มาเริ่มวาด “พิมพ์เขียวของชีวิต” กันตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ เพราะหากช้าไปอาจจะสายเกินการณ์

สนใจวางแผนการเงินกับที่ปรึกษาการเงิน บีแอลเอ FA 3B
โทร 02-777-8888 www.bangkoklife.com/blafa