วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 ต.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 ต.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มเล็กน้อยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและซาอุดิอาระเบีย ในกรณีการหายตัวไปของนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย หลังเข้าไปติดต่อธุระที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้นำสหรัฐฯประกาศว่า สหรัฐฯ จะใช้มาตรการลงโทษสถานหนักหากผลการสืบสวนพบว่าซาอุดิอาระเบียมีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียพร้อมตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการที่รุนแรงกว่า

+ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากอิหร่านยังคงปรับลดลงแตะระดับ 3.45 ล้านบาร์เรลต่อวันและยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ มีความต้องการที่จะปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านให้หมดไป ขณะที่ประเทศคู่ค้านอกเหนือจากประเทศหลัก เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลางได้ทำการปรับลดปริมาณการนำเข้าจากอิหร่านอย่างต่อเนื่อง

- ความต้องการน้ำมันที่ลดลงได้กดดันราคาน้ำมันไม่ให้ปรับขึ้นมากนัก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงานว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง อันเนื่องมาจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายงานจากกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน (OPEC) ที่ได้ลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้และปีหน้าลง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ที่เริ่มเบาบางก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว ประกอบกับอุปทานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากโรงกลั่นในญี่ปุ่นที่จะกลับมาดำเนินการใหม่อีกครั้งในเร็วๆ นี้

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ดี อุปทานที่ปรับลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงในญีปุ่น อินเดีย และไต้หวันยังคงสนับสนุนตลาดในขณะนี้

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 69-74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 78-83 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ภาวะตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค. ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากเดือน เม.ย. ที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงประจำฤดูกาลของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ

---------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999