รางวัลโนเบลปี 2018 ทุกสายมุ่งเทคโนโลยีสู้มะเร็ง

รางวัลโนเบลปี 2018 ทุกสายมุ่งเทคโนโลยีสู้มะเร็ง

รีวิวรางวัลโนเบลสายวิทยาศาสตร์กับ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักเทคโนโลยีไทย ตั้งข้อสังเกตพบว่า จุดหมายปลายทางของทั้งสายการแพทย์ ฟิสิกส์และเคมี ล้วนมุ่งสู่เส้นทางไขปริศนาสยบมะเร็ง หนึ่งในโรคร้ายที่ยังหาทางยับยั้งหรือรักษาไม่ได้

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องน่าจะกล่าวถึงกันมากที่สุดในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือการทยอยประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ ฟิสิกส์และเคมี ผลงานของปีนี้ล้วนเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันของเราโดยสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ไว้จากโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งอันแสนน่ากลัว


ตัวอย่างเช่น โนเบลสาขาฟิสิกส์ มอบให้กับผลงานการค้นพบครั้งสำคัญด้านเทคโนโลยีเลเซอร์ เป็นการใช้เลเซอร์ดักจับอนุภาคระดับอะตอมและการสร้างเลเซอร์ความถี่สูงและเป็นท่อนสั้นๆ ระดับเฟมโตวินาที ทำให้ได้คลื่นเลเซอร์สั้นๆ ที่มีพลังงานสูงมาก ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือเลเซอร์ทางการแพทย์ต่างๆ ตั้งแต่การผ่าตัดดวงตา การรักษามะเร็ง ไปจนถึงการผลิตชิ้นส่วนขนาดจิ๋ว


ผู้ได้รับรางวัลคือ “ศ.อาเธอร์ เอชคิน” แห่งสถาบัน Bell Laboratories ชาวอเมริกันวัย 96 ปี ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่มีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังคงทำงานวิจัยอยู่ที่ห้องแล็บของเขาจวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี “ศ.เจอราร์ด มูรู” จากฝรั่งเศสและดอนนา สตริคแลนด์จากมหาวิทยาลัย Waterloo ประเทศแคนาดา ที่พิเศษคือเธอเป็นสตรีคนแรกในรอบ 55 ปีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ และเป็นสตรีรายที่ 3 ในรอบ 115 ปีที่ได้โนเบลสาขานี้ และเธอยังไม่ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ทาง Wikipedia ก็ปฏิเสธที่จะมีหน้าประวัติของเธอบนเว็บไซต์ เพราะเธอไม่เป็นที่รู้จักพอ


อีกสาขาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือโนเบลสาขาการแพทย์มอบให้แก่ นักวิจัยที่ค้นพบวิธีรักษามะเร็ง ได้แก่ “ศ.เจมส์ อัลลิสัน” จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัส และ “ศ.ทาสุกุ ฮอนโจ” แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต โดยแสดงให้เห็นถึงวิธีที่แตกต่างกันในการยับยั้งความล้มเหลวในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในผู้ป่วย นำไปสู่วิธีการรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด


รางวัลโนเบลสาขาเคมี ปีนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลคือ “ฟรานเชส เอช อาร์โนลด์” นักเคมีหญิงชาวอเมริกันวัย 62 ปีจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย จากผลงานวิจัยด้านการควบคุมวิวัฒนาการของเอนไซม์ วิธีการดังกล่าวจนกลายเป็นวิธีการพัฒนาเอนไซม์ตัวใหม่ๆที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ใช้ผลิตวัตถุทางเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการขนส่งเพื่อโลกที่สะอาดขึ้น


นักวิจัยอีก 2 คนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีคือ “ศ.จอร์จ พี สมิธ” วัย 77 ปี มหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกาและ “ท่านเซอร์เกรกอรี พี วินเทอร์” วัย 67 ปีอาจารย์ชาวอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งสองได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาในเรื่อง phage display ซึ่งเป็นวิธีใช้ phage (ไวรัสของแบคทีเรีย) ไปสร้างโปรตีนชนิดใหม่ๆ แล้วนำไปควบคุมวิวัฒนาการของแอนติบอดีเพื่อผลิตยาใหม่รวมถึงแอนติบอดีสำหรับต้านฤทธิ์ของโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง และยารักษาโรคมะเร็ง


จะเห็นได้ว่า รางวัลโนเบล 2018 นำไปสู่การใช้งานจริงที่น่าสนใจโดยเฉพาะด้านการแพทย์และการรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้น ในอนาคตมะเร็งอาจจะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ