‘จีน’ ส่อเจ็บหนักกว่าสหรัฐ เซ่น ‘สงครามการค้า’

‘จีน’ ส่อเจ็บหนักกว่าสหรัฐ เซ่น ‘สงครามการค้า’

หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารอบที่ 3 จากจีน จะกระทบ 3.5% ของจีดีพีจีน และหากจีนเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐทั้งหมด สหรัฐจะได้รับผลกระทบเพียง 1% ของจีดีพี

ตลาดเงินทั่วโลกยังคงจับตาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ หลังรัฐบาลวอชิงตันบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีนรวมเป็นเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการนำเข้าจากจีน

ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอีก 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้จีนเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสหรัฐรวมเป็น 1.11 แสนล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือครอบคลุมเกือบ 90% ของสินค้านำเข้าจากสหรัฐทั้งหมดของจีน

หากการเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่มีความคืบหน้า มาตรการกำแพงภาษีล่าสุดจะเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 25% ในวันที่ 1 ม.ค. 2562 อีกทั้งสหรัฐยังขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้ารอบที่ 3 กับสินค้าส่วนที่เหลือมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์จากจีน

“ชโรเดอร์ส” บริษัทบริหารสินทรัพย์ชื่อดังของอังกฤษ เผยแพร่รายงานเรื่อง “มุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์” (Economic & Strategy viewpoint) ประจำเดือนต.ค. ชี้ว่า การเติบโตทางการค้าที่ซบเซาลงหลังสหรัฐและจีนใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้กัน จะส่งผลกระทบกับจีนมากกว่าสหรัฐ 

สินค้านำเข้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์เทียบเท่ากับราว 11% ของการส่งออกของจีน หรือ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารอบที่ 3 จากจีน จะกระทบ 3.5% ของจีดีพีจีน และหากจีนตั้งกำแพงภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐทั้งหมด สหรัฐจะได้รับผลกระทบเพียง 1% ของจีดีพีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชโรเดอร์สมองว่า จีนมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการตั้งกำแพงภาษี ตัวอย่างเช่น บริษัทสหรัฐจำนวนมากได้เลือกค้าขายกับจีนผ่านบริษัทลูกของตนที่มีฐานในท้องถิ่น บริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ค่ายรถใหญ่ของสหรัฐ จำหน่ายรถในจีนได้มากกว่าในสหรัฐ ขณะที่บริษัทแอ๊ปเปิ้ล ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยี จำหน่ายไอโฟนในจีนได้มากกว่าในสหรัฐถึง 2 เท่า

ขณะที่บรรดาบริษัทเกาหลีใต้ในจีนพบว่า ทางการจีนสามารถทำให้ธุรกิจเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ผ่านการบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด หากบริษัทมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาล

นอกจากนั้น บรรดาบริษัทสหรัฐอาจต้องเผชิญกับความเสียเปรียบในการยื่นประมูลสัญญา และปัจจุบัน จีนกำลังพิจารณาข้อจำกัดเกี่ยวกับยอดขายการส่งออก เช่น แร่หายากซึ่งอาจจะกระทบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ของสหรัฐ

รายงานของชโรเดอร์ส ประเมินว่า สถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ จีนมองว่านโยบายการค้าของตนเป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์การเติบโตที่จะเปิดทางให้เศรษฐกิจก้าวข้าม “กับดักรายได้ปานกลาง” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “เมด อิน ไชน่า 2025”

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ เข้าสู่อำนาจโดยให้คำมั่นว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) และเขาได้รวบรวมทีมงานที่เชื่อว่าจีนเป็นต้นตอของภาวะขาลงในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐ จากมุมมองนี้ของทรัมป์ ชโรเดอร์สจึงมองว่าการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศจะไม่มีการบรรลุข้อตกลงกันได้

รายงานระบุว่า ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงซัพพลายเชนทั้งหมดที่รวมถึงเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่ง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย

นอกจากนั้น ชโรเดอร์ส ระบุว่า จะมี “ผู้ชนะ” จากสงครามการค้าครั้งนี้ เนื่องจากบรรดาผู้นำเข้าในสหรัฐและจีนหันไปพึ่งซัพพลายเออร์ทางเลือก ตัวอย่างเช่น บราซิลมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากความต้องการถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นจากจีน หลังมีการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐ

“เราอาจได้เห็นจีนหันไปพึ่งบรรดาซัพพลายเออร์ในญี่ปุ่นและยุโรป สำหรับสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ภาคการผลิต”

ขณะเดียวกัน บรรดาบริษัทสหรัฐจะเผชิญกับความยากลำบากในการตัดสินใจระหว่างจ่ายภาษีนำเข้าและบวกไปในราคาขั้นสุดท้าย หรือนำส่วนต่างกำไรของตนไปจ่ายภาษีนำเข้า ทางเลือกแรกจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลือกหลังจะกระทบต่อผลกำไรของบริษัท

ชโรเดอร์ส ชี้ว่า ไม่ว่าจะเลือกทางใดก็ส่งผลเสียต่อการเติบโตมากพอกัน เนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ขณะที่ผลกำไรที่ลดลงจะบั่นทอนการลงทุนด้วยเงินทุน

แม้รัฐบาลของทรัมป์หวังว่า บริษัทเหล่านี้จะย้ายการผลิตกลับบ้านเกิด แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดต้นทุนมหาศาล โดยเฉพาะผลจากการขาดแคลนแรงงานในสหรัฐ ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนที่เกิดจากสงครามการค้า อาจบั่นทอนรายจ่ายการลงทุนและกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ระหว่างสหรัฐกับจีน

ชโรเดอร์ส ระบุด้วยว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทั่วโลก และกระทบตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะเอเชีย มากกว่าตลาดสหรัฐ เนื่องจากผลกระทบยังไม่รุนแรงมากพอที่จะบั่นทอนการขยายตัวของสหรัฐได้

“สงครามการค้าจะต้องมีขนาดครอบคลุมทั่วโลก จึงจะมีผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตโลก”

ธนาคารกลางอังกฤษ รายงานว่า หากสหรัฐเก็บภาษีนำเข้า 10% จากประเทศคู่ค้าทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของสหรัฐ 2.5% และผลผลิตทั่วโลก 1% ในช่วง 3 ปี นับเฉพาะช่องทางการค้าอย่างเดียว แต่หากมีการเพิ่มความเข้มงวดในกฎเกณฑ์ทางการเงิน หรือเกิดความไม่แน่นอนเป็นวงกว้างมากขึ้น จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง

ในกรณีที่ประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมกับสหรัฐในการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน อาจส่งผลให้การเติบโตทั่วโลกซบเซาลง เนื่องจากปริมาณการค้าในวงกว้างได้รับผลกระทบและอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่บั่นทอนเสถียรภาพ เช่น การอ่อนค่าลงอย่างหนักของเงินหยวนจีน

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ชโรเดอร์สเรียกว่า “จีน ปะทะ ทั่วโลก” ซึ่งการเติบโตโลกจะชะลอตัวลงราว 0.6% ภายในสิ้นปี 2562

“อย่างไรก็ตาม แม้สมมติฐานกรณีที่สงครามการค้าบานปลายทั่วโลกจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เราไม่ควรมองข้ามภัยคุกคามจากสงครามการค้า เนื่องจากทำให้เกิดแรงต้านต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่ผ่อนคลายลงจะบั่นทอนการเติบโตในปี 2562 และ 2563” รายงานระบุ

ชโรเดอร์ส คาดการณ์ว่า การเติบโตของสหรัฐจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งหลังของปีหน้า ขณะที่วงจรสงครามการค้ามีแนวโน้มจะสิ้นสุดลงในปี 2563