'นิพิฏฐ์' เผยพรรคการเมืองมี 'ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ'

'นิพิฏฐ์' เผยพรรคการเมืองมี 'ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ'

'นิพิฏฐ์' เผยความพยายามแยกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย ระบุมีคำตอบ "ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ"

เมื่อวันที่ 13 ต.ค.61 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กข้อความ "พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หรือ ฝ่ายเผด็จการ (1)" ระบุว่า "มีความพยายามแยกพรรคการเมืองออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายประชาธิปไตย กับ ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จำเป็นที่เราต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเสียก่อน จึงจะแยกออกว่า ฝ่ายไหนคือประชาธิปไตย ฝ่ายไหนคือเผด็จการ เหมือนการที่เราจะไปสวรรค์ก็ต้องรู้จักทางที่จะไปนรกเสียก่อน ไม่งั้นก็ไปสวรรค์ไม่ถูก ความจริงเรื่องเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่ต้องให้ความรู้กับประชาชน แต่ประเทศไทยค่อนข้างอาภัพ เพราะนักวิชาการมักเป็นกลุ่มที่อยู่ฝ่ายผู้มีอำนาจ นักวิชาการบ้านเราจึงสามารถอธิบายขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว ได้ตลอดเวลาตามแต่ผู้มีอำนาจต้องการ ประชาชนของเราจึงไม่ค่อยเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้

ผมว่าเราต้องปูพื้นฐานง่ายๆ ดูตั้งแต่เหตุผลในการประกาศอิสระภาพของสหรัฐอเมริกา เมื่อ 4 กรกฎาคม 1776 ที่ประกาศว่า "...มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้นได้แก่ ชีวิต เสรีภาพและการเสาะแสวงหาความสุข.." ผมว่าต้องเริ่มจากหลักการนั้นแหละ เพราะการแยกตัวเป็นอิสระของอเมริกา เป็นหลักพื้นฐานของการก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน

เริ่มต้นจริงๆของประชาธิปไตย สิทธิในทรัพย์สิน และการเก็บภาษีเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของประชาธิปไตย ก็ถือหลักการเสียภาษีมาเป็นหลักในระบอบประชาธิปไตย ว่า "เราไม่ยอมเสียภาษี และเราไม่ยอมให้ใช้ภาษีของเราถ้าตัวแทนของเราไม่ยินยอมด้วย" รัฐบาลที่เก็บและใช้จ่ายเงินภาษีอากรโดยไม่ผ่านตัวแทนของประชาชนรัฐบาลนั้นก็เป็นรัฐบาลเผด็จการ แต่เป็นเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจ

ส่วนรัฐบาลที่บอกว่า"จะใช้ภาษีของประชาชนดูแลเฉพาะประชาชนที่เลือกตัวเองเท่านั้น" รัฐบาลนั้นแม้มาจากการเลือกตั้งก็ถือเป็นเผด็จการเช่นเดียวกัน เพราะเป็นการจ่ายภาษีของประชาชนให้กับฝ่ายที่สนับสนุนตนแต่เพียงฝ่ายเดียว เราเรียกรัฐบาลเหล่านี้ว่าเป็น "เผด็จการเสียงข้างมาก" รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจ และรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลไหนจะดีกว่ากัน ก็ให้พวกนิยมเผด็จการทั้ง 2 ฝ่าย เขาเถียงกันเอง ผมไม่ร่วมวงเสวนาด้วยก็แล้วกัน"