CPF - ซื้อ

CPF - ซื้อ

ผลประกอบการหลักฟื้นตัว

ผลประกอบการหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จากกำไรของธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง QoQ รวมถึงธุรกิจกุ้งในต่างประเทศและมาร์จิ้นของธุรกิจปศุสัตว์ของประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มกลบผลกระทบของขาดทุนสุทธิของเบลลิซิโอที่ยังคงต่อเนื่องและธุรกิจกุ้งของประเทศไทยที่อ่อนตัวลงโดยภาพรวมเราไม่มีความกังวลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ CPF ในประเทศตุรกี จีน และรัสเซีย แต่อย่างใดถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบระยะสั้น เรื่องราคาปศุสัตว์ของประเทศไทยที่อ่อนตัวลงตามฤดูกาลก็ตาม เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรหลัก ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และมูลค่าหุ้นที่ยังคงถูก ซึ่งอัตราส่วน PER ปี 2562 อยู่เพียงแค่ 10.9 เท่า(เทีย บกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 13.2 เท่า)

ส่องกล้องไตรมาส 3/61—กำไรหลักเพิ่มขึ้นจากธุรกิจหมูในประเทศเวียดนาม

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 3/61 ที่ 5.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% YoYแต่ลดลง 12% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษซึ่งได้แก่ 1) รายการอัตราแลกเปลี่ยน 2) กำไรหลังหักภาษีจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL 3) กำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพ 300 ล้านบาท (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ชีวภาพของประเทศเวียดนาม) ตามการถือหุ้นของ CPF ใน CPP สัดส่วน 50.4%และ 4) สำรองค่าความเสียหายสินทรัพย์ชีวภาพของฟาร์มหมูในประเทศรัสเซียจากโรคไข้หวัดหมูหรือไข้อหิวาต์แอฟริกันในสุกร 355 ล้านบาท เราคาดกำไรหลักในไตรมาสนี้ที่ 3.52 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% YoYและ 47% QoQ กำไรหลักที่เพิ่มขึ้น YoY เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง และยอดขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลบผลกระทบของอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง ภาระภาษีจ่ายที่เพิ่มขึ้นและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่ทรงตัว กำไรหลักที่เพิ่มขึ้น QoQ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก อัตรากำไรขั้นต้น ที่เพิ่มขึ้น (จากกำไรของธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามที่เพิ่มขึ้น ) และยอดขายที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น QoQ จากธุรกิจปศุสัตว์ในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม

เราคาดยอดขายไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10% YoY และ 2% QoQ ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น ในไตรมาส 3/61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไปเป็น 13% จาก 12.2% ในไตรมาส 2/61 (แม้ว่าจะลดลงจาก 13.9% ในไตรมาส 3/60 ก็ตาม) ทั้งนี้เราคาดกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพจำนวน 300 ล้านบาทในไตรมาส 3/61 เนื่องจากราคาหมูในประเทศเวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 8% YoY ณ ช่วงปลายไตรมาส 3/61 เทียบกับปลายไตรมาส 2/61 สำหรับธุรกิจปศุสัตว์ในประเทศไทย เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจไก่ในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวลง YoY เนื่องจากราคาไก่ในประเทศเฉลี่ยที่ลดลง YoY (เฉลี่ย 33.3 บาท/กก.ในไตรมาส3/61 เทียบกับเฉลี่ย 37.7 บาท/กก.ในไตรมาส 3/60) แต่ปรับตัวเพิ่ม ขึ้น QoQ เนื่องจากราคาเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น (เทียบกับเฉลี่ยในไตรมาส 2/61 ซึ่งอยู่ที่ 32 บาท/กก.)

ในขณะที่ราคาหมูในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ (หนุนโดยราคาหมูในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น 4% ทั้ง YoY และ QoQ มาอยู่ที่เฉลี่ย 62.7 บาท/กก.ในไตรมาส 3/61) เราคาดว่าราคาปศุสัตว์ของประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค. 2561 เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น (ฝนตกมาก) และเทศกาลกินเจก่อนที่จะพลิกกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่เดือนพ.ย. และต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/61

ราคาหมูในเวียดนามทรงตัวในระดับสูง

ธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มรายงานกำไรเพิ่มขึ้น QoQ และพลิกกลับจากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/60 เนื่องจากราคาเฉลี่ยของหมูในประเทศเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น (เพิ่มขึ้น 19% QoQ และ 65% YoY มาอยู่ที่ 50,639 ดองต่อกก.ในไตรมาส 3/61) เราคาดว่าราคาหมูในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มยืนอยู่ที่ระดับ 51,000 ดองต่อกก.ในเดือนต.ค. และยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจนถึงในปี 2562 การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจไก่ในประเทศเวียดนามของ CPF ถือว่าเป็นการผลักดันการส่งออกไก่จากประเทศเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปให้เพิ่มขึ้นในระยะยาว เนื่องจากการส่งออกไก่จากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควต้าของสหภาพยุโรปที่เต็มแล้ว

ธุรกิจกุ้งในต่างประเทศแข็งแกร่งแต่ธุรกิจกุ้งในประเทศไทยอ่อนตัวลง

เราคาดว่าอัตรากำไรของธุรกิจกุ้งในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวลงทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากการใช้กำลังการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำของโรงงานกุ้งแปรรูปของ CPF ในประเทศไทย รวมถึงต้นทุนคงที่ที่ยังคงสูงเกินไป ซึ่งน่าจะกลบอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยด้านฤดูกาล แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ธุรกิจกุ้งในต่างประเทศได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย คาดว่าจะยังคงเติบโตแข็งแกร่ง ธุรกิจปศุสัตว์ในประเทศอินเดียมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งต่อเนื่องไปในไตรมาส 3/61 หลังจากที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 กำไรของธุรกิจในประเทศลาวและกัมพูชาในไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2/61 เนื่องจากราคาหมูที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในสองประเทศ เบลลิซิโอ้มีแนวโน้มขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/61 ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/61 เนื่องจากการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มจะต้องใช้ระยะเวลาที่จะเห็นผลบวก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม EBITDA ของเบลลิซิโอ้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3/61 เนื่องจากการลดต้นทุน

ไม่มีความกังวลต่อธุรกิจในตุรกี จีน และรัสเซียในไตรมาส 3/61

หากไม่รวมการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางชีวภาพ 355 ล้านบาท ยอดขายของธุรกิจหมูในประเทศรัสเซียในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสาคัญแต่อย่างใดจากการล้างฟาร์มหมู ในขณะที่ธุรกิจไก่ในประเทศรัสเซียมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3/61 เทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2561 การระบาดของโรคไข้หวัดหมู (ASF) ในประเทศจีนน่าจะส่งผลกระทบอย่างไม่มีนัยสำคัญต่อยอดขายอาหารสัตว์ของ CPP เนื่องจากความเสียหายได้ถูกจำกัดไว้ที่จำนวนหมู 4-5 หมื่นตัวเทียบกับปริมาณหมูที่มีจำนวน 400-500 ล้านตัวของทั้งอุตสาหกรรมซึ่งเลี้ยงในประเทศจีน สำหรับในประเทศจีน ยังไม่ได้มีการระบาดของโรคไข้หวัดหมูไปยังพื้นที่เลี้ยงหมูที่สำคัญซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน นอกจากนี้เราคาดว่า CPF จะได้รับผลบวกจากราคาหมูที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศจีนและเวียดนามอย่างน้อยจนถึงปี 2562 หลังจากการระบาดของโรคไข้หวัดหมูในปี 2561 เราคาดว่าธุรกิจในประเทศตุรกีมีแนวโน้มแสดงกำไรลดลงในไตรมาส 3/61 แต่ไม่ใช่ขาดทุนจากค่าเงินตุรกีที่อ่อนค่าลง ในขณะที่การพลิกฟื้นกลับมามีกำไรของผลการดำเนินงานหลักในประเทศตุรกียังคงดำเนินต่อไป

เราทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561 ลงอีก 7% เหลือ 1.72 หมื่นล้านบาทเพื่อสะท้อนกำไรจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL ที่ลดลงในช่วงครึ่งหลังปี 2561 แต่ยังคงประมาณการกำไรหลักของปี 2561 ไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2562 แทนและได้ราคาเป้าหมายใหม่ที่ 31 บาทต่อหุ้น