รู้ก่อนลงทุน 'ทีเอฟเอฟ' เจาะ 'ความเสี่ยง' เทียบ 'ผลตอบแทน'

รู้ก่อนลงทุน 'ทีเอฟเอฟ' เจาะ 'ความเสี่ยง' เทียบ 'ผลตอบแทน'

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ “กองทุนทีเอฟเอฟ” (Thailand Future Fund :TFFIF) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านบาท เคาะราคาที่หน่วยละ 10 บาท รวม 4,100-4,570 ล้านหน่วย เปิดให้จองซื้อวันนี้ (12 ต.ค.) เป็นวันแรก

เปิดให้จองถึง 19 ต.ค. ก่อนจะเปิดซื้อขายในวันที่ 31 ต.ค.นี้

กองทุน TFFIF เป็นประเภท “กองทุนปิด” ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยจะนำหน่วยลงทุนไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ในตลาดรอง TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับ “ส่วนแบ่งรายได้” ค่าผ่านทางของทางพิเศษ 2 เส้นทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) คือ “ทางพิเศษฉลองรัช” และ “ทางพิเศษบูรพาวิถี” ระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร

โดยเป็นการลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ 45 % ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษทั้ง2เส้นทางดังกล่าวเป็นระยะเวลา30ปีนับจากวันโอนสิทธิตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้(Revenue Transfer Agreement :RTA) ตามสัญญาRTAจะมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าผ่านทางทุกๆ5ปี

ใช้วิธีการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปด้วยวิธี Small Lot First กำหนดเงื่อนไขจองซื้อขั้นต่ำที่1,000หน่วย หรือ 10,000 บาท โดยกระทรวงการคลังจะถือหน่วยลงทุนใน TFFIF เป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า10%ของ จำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดหลังการเพิ่มทุนเป็นระยะเวลา5ปี

ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ 1.กองทุนได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จริง(ไม่มีการรับประกันผลตอบแทน) รายได้ในอนาคตขึ้นกับปริมาณจราจรและการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง 2. กองทุนพึ่งพากทพ.เป็นผู้ดำเนินงานบริหารจัดการเกี่ยวกับทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถีทั้งหมด 3. หากกองทุนไม่สามารถลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานอื่นเพิ่มเติม มูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนลงทุนจะลดลงตามอายุสัญญาที่เหลืออยู่ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาRTAมูลค่าหน่วยลงทุนอาจลดลงจนถึงศูนย์บาทได้

การจ่ายผลตอบแทนกองทุน จ่ายปันผลจ่ายไม่ต่ำกว่าปีละ2ครั้ง โดยมีอัตราการจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า90%ของกำไรสุทธิที่มีการปรับปรุงแล้ว ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับรอบปี สิ้นสุด 30 ก.ย.2562 เป็นประมาณการอัตราเงินปันผลจากกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.02 -4.49% ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งจากสภาพคล่องส่วนเกินจากค่าใช้จ่ายในการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนตัดจำหน่าย (ใน 3 ปีแรก จะมีการลดทุนจากการตัดจำหน่ายค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสนอขาย) อยู่ที่ 0.73 – 0.81%

ดังนั้นประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่ง ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เฉลี่ยอยู่ที่4.75-5.30% อย่างไรก็ตามการประเมินมูลค่าใหม่ จะดำเนินการทุก3ปี ถ้าราคาประเมินปรับลดลงต่ำกว่าราคาที่เข้าลงทุน ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินที่จะลดทุนคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนคืนกลับไป

“สาห์รัช ชัฎสุวรรณ” ผู้อำนวยการสายการตลาด บลจ.ทิสโก้ มองว่า กองทุน TFFIF เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถแบ่งเงินลงทุน 10-20% มาลงทุนในกองทุนนี้ ด้วยอัตราการปันส่วนแบ่งเฉลี่ยที่ 5% ถือว่าอยู่ในระดับรับได้ และยังได้รับการลดหย่อนภาษีถึง 10 ปี ถือว่าน่าสนใจมากกว่าการลงทุนตราสารหนี้ 10-30 ปี ซึ่งต้องเสียภาษีและผลตอบแทนน้อยกว่า

อย่างไรก็ตามแม้ว่าอัตราปันส่วนแบ่งอาจมีความไม่แน่นอน แต่ด้วยกระแสเงินสดที่กองทุนจะได้รับจากรายได้ค่าผ่านทาง ซึ่งค่อนข้างคงที่หรือมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต และไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเงิน เมื่อเทียบหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนระดับเดียวกัน ซึ่งจะมีเรทติ้งต่ำ มีความเสี่ยงผิดนัดชำระ อีกทั้งเมื่อเป็นกองทุนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มีสภาพคล่อง แม้จะเป็นกองทุนระยะยาวมากๆ ข้อเสียคือ ราคาอาจจะแกว่งระหว่างทางได้ ขณะที่นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเข้าลงทุน ส่วนใหญ่จะถือระยะยาวจนครบกำหนด

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผลตอบแทนกองทุน หากราคายังเฉลี่ยที่ 10 บาทต่อหน่วย ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ตามประกาศในหนังสือชี้ชวน แต่เมื่อเข้าตลาดแล้ว ราคาปรับขึ้นมากกว่า10บาทต่อหน่วย ผลตอบแทนเฉลี่ยมีโอกาสลดลง หากมีรายได้ที่ไม่ถึง4% แต่จะได้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ซื้อขายในตลาดฯแทน
หลังจากทีมงานได้สำรวจตลาดแล้ว นักลงทุนรายย่อยทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าให้ความสนใจ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในการเติบโตของเศรษฐกิจในทิศทางนี้ และด้วยความน่าสนใจของกองทุนนี้ เป็นกองทุนกึ่งตราสารทุนที่ความผันผวนต่ำ และมีที่มาของรายได้จากการลงทุนค่อนข้างชัดเจนจากรายได้ค่าผ่านทางแม้ว่าอาจจะมีขึ้นลงได้บ้างก็ตาม รวมถึงนักลงทุนสามารถซื้อขายได้ทุกวัน

กองทุนนี้น่าจะเป็น “จุดเริ่มต้นที่ดี” สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่อยากเริ่มต้นการลงทุน แต่ไม่อยากลงทุนในตราสารหนี้ ส่วนนักลงทุนสถาบันน่าจะตอบรับดีมาก เพราะมองหาการลงทุนที่จะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวและมีความผันผวนไม่มาก
นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันสามารถซื้อไว้ติดพอร์ตการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงของการลงทุนในประเทศ โดยมีระยะเวลาถือครองเฉลี่ย 5-10ปี แต่หากเป็นนักลงทุนรายย่อยที่จะถือยาวมากกว่านี้ จะต้องมีการบริหารจัดการลงทุนที่ดี หรือจะถือนานเท่าไหร่แล้วแต่แผนการลงทุนส่วนบุคคล แต่หากเป็นนักลงทุนรายย่อยที่ยังไม่มีความเข้าใจ รับความผันผวนจากการลงทุนไม่ได้ ต้องการผลตอบแทนคงที่ตลอด แนะนำให้ไปลงทุนตราสารหนี้ 30ปี ผลตอบแทน3.5% น่าจะดีกว่าและเหมาะสมมากกว่า