AUCT - ซื้อ

AUCT - ซื้อ

คาดผลประกอบการ 2H61 เติบโตสูงกว่า 1H61 ตามปัจจัยฤดูกาล

ประเด็นสำคัญในการลงทุน :

  • กำไร 1H61 เติบโต 56%YoY ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ และยอด NPLสินเชื่อเช่าซื้อ 1-2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง : บริษัทรายงานรายได้และกำไร 1H61 อยู่ที่ 311 ลบ. และ 70 ลบ. +12%YoY และ +56%YoY ตามลำดับ ขณะที่รายได้และกำไร 2Q61 อยู่ที่ 147 ลบ. และ 28 ลบ. +19%YoY และ +144%YoY ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้รายได้และกำไรของ 1H61 เติบโตจากปีที่แล้ว คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนรถปิดการประมูลอยู่ในระดับสูง จากยอด NPL สินเชื่อเช่าซื้อใน 1-2 ปีที่ผ่านมา (รถยนต์ที่ธนาคารนำมาประมูลจะเกิดหลัง NPL ประมาณ 1-2 ปี) ทำให้ใน 1H61 จำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ทำการประมูลผ่านบริษัทอยู่ที่ 26,808 คัน +44.2%YoY และ 18,592 คัน +15.8%YoY ตามลำดับ ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ อยู่ที่ 49.7% และ 22.4% ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจาก 1H60 ที่ 43.4% และ 16% ตามลำดับ เนื่องจากรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนรถที่ประมูลขณะที่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่
  • คาดกำไรปี 61 ราว 129 ลบ. +24%YoY และคาดว่ายอดขาย 2H61 จะเร่งตัวขึ้นจาก 1H61 ตามปัจจัยฤดูกาล ประกอบกับยอดขายรถใหม่ภายในประเทศปีนี้เติบโตดี : เราคาดรายได้ปี 61 ราว 608 ลบ. +8%YoY และกำไร ราว 129 ลบ. เติบโต 24%YoY โดยคาดว่าผลประกอบการ 2H61 จะเติบโตได้ดีกว่า 1H61 ตามยอด NPL สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งแสดงใน Figure 2 อีกทั้งการประมูลรถยนต์มือสองจะเร่งตัวขึ้นจากการนำรถมาประมูลภายในสิ้นปีเนื่องจากจะได้ราคาสูงกว่าการประมูลในปีหน้า เพราะการนับอายุรถยนต์เป็นการนับตามปีปฏิทิน โดยเราคาดอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิปี 61 อยู่ที่ราว 48% และ 21% ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากปี 60 ซึ่งอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิ อยู่ที่ 45% และ 18% ตามลำดับ จากการคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนรถยนต์ปิดประมูลเพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 60 อยู่ที่ 4.9 หมื่นคัน เป็นราว 5.5 หมื่นคัน ในปี 61 ตามยอดขายรถใหม่ภายในประเทศโดยเฉพาะรถยนต์นั่ง (Passenger Car) ที่คาดว่าปี 61 จะขายได้ราว 3.9 แสนคัน เติบโตราว 10%YoY (ที่มา : คาดการณ์จาก Toyota) ประกอบกับ มูลค่า NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อ (High Purchase) จากปีที่แล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 7%YoY กดดันให้สถาบันการเงินนำรถมาขายทอดตลาดมากขึ้น (จาก Figure2 ปกติแล้ว จะมี Lag time ระหว่างหนี้เสียของสินเชื่อเช่าซื้อ กับการนำรถมาขายทอดตลาด ราว 1-2 ปีย้อนหลัง) ขณะที่เราคาดรายได้ปี 62 อยู่ที่ราว 676 ลบ. และกำไรราว 151 ลบ. +6%YoY โดยคาดว่าจะมีรถปิดประมูลราว 6 หมื่นคัน ประกอบกับคาดว่ายอด NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อปี 61 จะเติบโตราว 10% (ประมาณจากการเติบโตของยอด NPL สินเชื่อเช่าซื้อ 2Q61 และ 2Q60 +11%YoY)
  • มีโอกาสเติบโตจากกลยุทธ์ใหม่ “เพื่อนประมูล” เริ่มต้นเดือน ธ.ค. 61 หนุนรายได้เติบโตในอนาคต : ราวเดือน ธ.ค. 61 AUCT จะใช้กลยุทธ์ใหม่ในการจับตลาดกลุ่มลูกค้า End User ภายใต้โครงการ “เพื่อนประมูล” โดยเน้นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่สถาบันการเงินให้นำรถเข้ามาประมูลมากขึ้น (กลุ่มสถาบันการเงินส่งรถเข้ามาประมูล 90% ของรถที่ทำการประมูล) ซึ่งมีกลยุทธ์ในการจูงใจลูกค้า โดยการจ่ายเงินให้ลูกค้าทันทีที่นำรถเข้ามาที่ลานประมูลเป็นเงินราว 60% ของมูลค่าประเมินซึ่งบริษัทได้ดีลเรียบร้อยแล้ว โดยที่สถาบันการเงินจะเป็นผู้จ่ายเงินส่วนนี้ให้กับลูกค้าและบริษัทไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าว ขณะที่บริษัทจะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากทั้งสองฝั่ง จากฝั่งผู้มาประมูลรถ 8,500 บาท และจากผู้นำรถเข้ามาประมูลอีก 8,500 บาท รวมทั้งหมด 17,000 บาท เปรียบเทียบจากเดิมที่เคยได้จากฝั่งผู้มาประมูลเพียงทางเดียว เนื่องจากไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินที่นำรถมาปล่อยประมูล โครงการดังกล่าวจะเพิ่มรายได้จากการประมูลเป็นเท่าตัว ประกอบกับจำนวนรถยนต์มือสองในตลาดที่มีกว่าปีละ 2 ล้านคัน (ที่มา : ผู้บริหารของ AUCT) ขณะที่ AUCT ยังสามารถดึงรถเข้ามาประมูลได้เพียงราว 5 หมื่นคันต่อปี ดังนั้นจึงมองว่ายังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก หากโครงการดังกล่าวสามารถทำได้สำเร็จจะช่วยสร้างรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • ฐานะการเงินแข็งแกร่งจากไม่มีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยและวงจรเงินสดติดลบ : AUCT มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากค่า DE Ratio ที่ 0.72 เท่าและไม่มีภาระดอกเบี้ย ประกอบกับวงจรเงินสดที่ติดลบถึง 169.40 วัน (จากข้อมูล 6M61) หมายความว่า ได้เงินเข้ามาเร็วกว่าที่จ่ายออกไปเกือบครึ่งปี ทำให้การขยายธุรกิจในอนาคตไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมาก ขณะที่ ROE สูงถึง 30 % รวมถึงอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ราว 7% และ 22.4% สูงกว่าอุตสาหกรรมภาคบริการ (Service) อาทิ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มโรงแรม ที่มีค่าเฉลี่ยของอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิ อยู่ที่ราว 37.58% และ 10.41% ตามลำดับ
  • เริ่มต้นด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสมสำหรับปี 62 ที่ 8.25 บาท : เราประเมินมูลค่าสำหรับปี 62 ด้วยวิธี PE Ratio โดยอิง PER อย่างอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่ 30 เท่า (ค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลัง) และคาดว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อีกมากจากโครงการ “เพื่อนประมูล” โดยเราคาดกำไรต่อหุ้นปี 62 ที่ 0.28 บาทต่อหุ้น ได้ราคาเหมาะสมที่ 25 บาท มี Upside ราว 23% จากราคาปัจจุบัน จึงแนะนำ “ซื้อ”

*หมายเหตุ ราคาเหมาะสมไม่ได้รวมถึงผลประโยชน์ของโครงการ “เพื่อนประมูล” ที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยง

 i) อุตสาหกรรมยานยนต์ หรือยอดขายรถใหม่ภายในประเทศหดตัว
ii) NPL สินเชื่อเช่าซื้อ หรือรถยนต์ ปรับตัวดีขึ้น
iii) กลยุทธ์จับกลุ่ม End User ไม่เป็นไปตามที่คาด