‘ซีเอ็มเอ็มไอ’ซอฟต์แวร์ เปิดทางไทยสู่สากล

‘ซีเอ็มเอ็มไอ’ซอฟต์แวร์ เปิดทางไทยสู่สากล

สวทช. ร่วมดีป้าจัดโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI ส่งผลให้ไทยครองแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียนติดต่อเป็นปีที่ 3 นำหน้าเวียดนาม ฟิลิปินส์ อินโดนีเซียและแม้กระทั่งสิงคโปร์

มาตรฐานซีเอ็มเอ็มไอ พัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐ เป็นตัวการันตีคุณภาพและความน่าเชื่อถือระดับสากลให้กับวิสาหกิจซอฟต์แวร์ ทั้งช่วยให้ก้าวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ทัน และมีความเป็นไปได้ที่การประมูลงานพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ราชการไทยอาจกำหนดให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลงานต้องมีใบรับรองซีเอ็มเอ็มไอ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) จัดทำ “โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI” ตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ไทยครองแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียนติดต่อเป็นปีที่ 3 นำหน้าเวียดนาม ฟิลิปินส์ อินโดนีเซียและแม้กระทั่งสิงคโปร์

ไทยรั้งแชมป์อาเซียน

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โครงการฯ สามารถผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้รับการรับรอง CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration จำนวน 86 รายจาก 150 รายที่ได้รับการรับรอง อีกทั้งผลการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริษัทเหล่านี้ ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนร่วมในโครงการถึง 5 เท่า ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและเงินไหลเวียนในภาคอุตสาหกรรมสูง รวมทั้งการจ้างงาน

ที่สำคัญคือ ช่วยให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าและบริการตอบความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ และเสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจให้ทัดเทียมต่างประเทศ ยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ล่าสุด โครงการฯ ปี 2559-2561 ใช้งบ 11 ล้านบาท สนับสนุนบริษัทซอฟต์แวร์ไทย 16 รายให้ได้การรับรองมาตรฐานดังกล่าว เช่น บริษัท แอ็บสแตรค คอมพิวเตอร์ จำกัด บริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด บริษัท อีเว้นท์พาส (ประเทศไทย) จำกัดและบริษัท สุวิเทค จำกัด เป็นต้น

ส่วนโครงการฯ ในปีถัดไปอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลักดันผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยให้มีมาตรฐานตามหลักสากล

ด้านนายสุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ผู้เชี่ยวชาญงานพิเศษ ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ดีป้า กล่าวว่า สวทช.และดีป้าส่งเสริมผู้ประกอบการให้ผ่านการรับรองมาตรฐานซีเอ็มเอ็มอไอทั้ง CMMI for development และ CMMI for services ระดับ 2 และ 3 เพื่อยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการคุณภาพซอฟต์แวร์ ตลอดจนการบริการด้านซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพที่จะเติบโตและขยายกิจการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างบุคลากรของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้มีความรู้ด้านกระบวนการพัฒนาและบริการซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยมีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดระดับสากลมากขึ้น

การันตีคุณภาพ-ประสิทธิภาพ

ในมุมเอกชนที่ผ่านการประเมิน CMMI-DEV v.1.3 ระดับ 3 ชไมพร อภิกุลวณิช ซีอีโอบริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรฐานนี้จะทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และบริการให้มีมาตรฐานเป็นยอมรับในระดับสากล จากเดิมที่ทำระบบไอเอสโอ 27000 โดยเริ่มจากระบบจัดเก็บข้อมูลจากเกิดที่เป็นกระดาษก็เปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้ง่ายต่อการนำมาใช้งานและวิเคราะห์ข้อมูลในระยะยาว

การพัฒนากระบวนการทำงานให้เป็นระบบ มีมาตรฐานรองรับที่ชัดเจน ส่งผลให้การทำงานมีความต่อเนื่อง ไม่ยึดติดตัวบุคคลเหมือนในอดีต จึงสามารถส่งต่องานให้กับพนักงงานใหม่ได้ทันที ไม่เสียเวลาการเรียนรู้ใหม่ และที่สำคัญทำให้การทำงานเป็นทีมมากขึ้น อีกทั้งมาตรฐานการทำงานที่เป็นระบบ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

“ขณะนี้เราได้รับมาตรฐานในระดับที่ 3 เป้าหมายจะพัฒนาสู่ระดับสูงสุดที่ 5 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์หาสาเหตุ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ตามมาด้วยการปรับปรุงกระบวนการหรือการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการทำมาตรฐานนี้ คือ สามารถเข้าไปนำเสนอบริการให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีกฎระเบียบเที่ต้องการมาตรฐานการทำงานในระดับสากล เพื่อสร้างความมั่นใจแก่การจ้างงาน จึงถือเป็นความได้เปรียบอย่างหนึ่ง ทั้งยังสามารถได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำมาตรฐาน รวมถึงการได้รับการช่วยเหลือทางด้านภาษีด้วย

ที่สำคัญ ลูกค้าต่างประเทศให้การยอมรับได้ง่ายขึ้น ส่งผลดีต่อองค์กรในระยะยาว ไม่เพียงแค่การลดต้นทุนเท่านั้นแต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจในการเข้ามาใช้บริการของบริษัท แม้ว่าในระยะสั้นจะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนมากนัก