เศร้า! 'วิศวกร' กรมทางหลวง วูบเสียชีวิตขณะออกรายการทีวีช่องดัง

เศร้า! 'วิศวกร' กรมทางหลวง วูบเสียชีวิตขณะออกรายการทีวีช่องดัง

เลขาฯสพฉ. เสียใจเหตุวิศวกร กรมทางหลวงวูบและเสียชีวิตขณะออกรายการโทรทัศน์ ระบุโรคหัวใจเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินในลำดับต้นๆที่คร่าชีวิตคนไทย เปิดสถิติการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยภาวะโรคหัวใจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบันมีกว่า 3 แสนราย

จากกรณีนายนิวัฒน์ สุรโชติเกรียงไกร วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง หมดสติขณะที่ร่วมรายการสถานีประชาชนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก่อนจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวานที่ผ่านมานั้น  ล่าสุดวันนี้เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ตนขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย ซึ่งหากประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนคิดว่าภาวะอาการป่วยของคุณนิวัฒน์ที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากภาวะทางหัวใจที่ทำงานผิดปรกติซึ่งจะทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ค่อนข้างเร็ว ทั้งนี้โดยธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที ซึ่งเป็นการเต้นในจังหวัดปรกติ และถ้ามีเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปรกติ อาทิมีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ที่ทำให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจผิดปรกติ อาการในช่วงแรกๆ ของคนที่เป็นจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือมีอาการใจสั่น ซึ่งถ้าหากเป็นไม่รุนแรงก็จะมีเวลาในการบอกคนข้างๆ หรือบอกเพื่อนๆ ให้พาไปหาหมอ แต่ถ้าหากบางคนมีอาการรุนแรงหรือเลือดไปอุดตันที่เส้นเลือดใหญ่ของหัวใจ อาการจะเกิดขึ้นเฉียบพลัน ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้จะทำให้เกิดภาวะที่ทำให้หัวใจล้มเหลวและจะทำให้สมองขาดเลือดก็จะทำให้เกิดอาการหมดสติ

"การเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจนั้นเป็นการเจ็บป่วยในอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตของคนไทยซึ่งจากสถิติการนำส่งผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือภาวะเจ็บแน่นทรวงอก เจ็บแน่นหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านหัวใจนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้นำส่งผู้ป่วยไปแล้วมากถึง305,313 ราย ดังนั้นเมื่อเราพบเห็นผู้ป่วยด้วยอาการของโรคหัวใจหรือผู้ป่วยที่มีอาการภาวะหัวใจขาดเลือดเราต้องช่วยให้เร็วที่สุด เพราะโดยปรกติแล้วสมองของคนเราจะขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาที ซึ่งภายใน 4 นาทีจะต้องได้รับการช่วยเหลือหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพบคนหมดสติ ให้ประเมินด้วยการปลุกเรียกและดูการหายใจ หากหมดสติไม่หายใจ ให้โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669  ระหว่างนี้ให้ทำการปั้มหัวใจผู้ป่วยทันที ขั้นตอนคือวางส้นมือประสานกันบนกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลงไปให้ลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร ต่อเนื่องที่อัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที จนกว่ารถกู้ชีพจะมาถึง  นอกจากนี้ให้สอบถามว่าบริเวณนั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ AED หรือไม่ หากมีให้นำมาใช้ร่วมกับการทำ CPR โดยทำการแปะแผ่นนำไฟฟ้าและกดช๊อตไฟฟ้าตามคำแนะนำของเครื่องAED " เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะกล่าว

2_89

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) โดยในปีพ.ศ. 2558 คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ประกาศให้เครื่อง AED เป็นเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นเลยทำให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้ทำได้มากขึ้นและเร็วขึ้นซึ่งขณะนี้จำนวนของเครื่อง AED ที่สพฉ.ได้รณรงค์และกระจายการติดตั้งไปในพื้นที่สาธารณะไว้เป็นจำนวนมากซึ่งหากเราใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำCPR ที่ถูกวิธีจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนป่วยด้วยโรคหัวใจมากขึ้น เนื่องจากมีความเครียด ไม่มีเวลาพักผ่อน การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่ออกกำลังกาย  และใช้เวลาอยู่กับการทำงานค่อนข้างมาก ซึ่งความเครียดจะกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจบีบตัวและเต้นเร็วขึ้น หรืออาจส่งผลให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีไขมันในเลือดสูงและเกิดอุดตันหลอดเลือดได้ง่าย อีกทั้งอาจะทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือที่เรียกหัวใจวายได้ด้วย สำหรับผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้คือ จุกเสียดแน่นตรงกลางหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวกเหมือนมีอะไรมีบีบรัด หรือกดทับ อาจปวดร้าวไปที่คอ แขนซ้าย หรือกราม ร่วมกับอาการคลื่นไส้ เหงื่อออกท่วมตัว อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกาย หรือทำงานหนักๆ แต่ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาการแน่นหน้าอกอาจรุนแรง และอาการไม่ดีขึ้น แม้หยุดพักจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจอาจหยุดเต้นอย่างกะทันหันได้หากใครมีอาการดังกล่าวเหล่านี้หรือพบเห็นคนใกล้ตัวมีอาการดังกล่าวนี้ให้รีบโทรหาสายด่วน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

ทั้งนี้ เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แนะนำให้ทุกคน เรียนรู้ขั้นตอนในการทำ CPR และการใช้งานเครื่อง AED สพฉ.ได้จัดทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์ไว้โดยประชาชนสามารถคลิกรับชมคลิปวีดีโอได้ที่ลิงค์ดังกล่าวนี้ https://www.youtube.com/watch?v=-BrFVo1tdw0&t=23s  หรือคลิกรับชมได้ที่แฟนเพจสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติhttps://www.facebook.com/pg/niem1669/videos/?ref=page_internal