จุฬาฯรอส่งต่อเนยเทียมโอเมก้าสูง

จุฬาฯรอส่งต่อเนยเทียมโอเมก้าสูง

จุฬาฯขานรับกระแสรักสุขภาพพัฒนาเนยเทียมจากงาขี้ม้อน ชี้อุดมด้วยโอเมก้า 3 และ 6 ไร้ไขมันทรานส์ รอส่งต่อภาคธุรกิจเอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ พร้อมต่อยอดขยายสู่ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่

จุฬาฯขานรับกระแสรักสุขภาพพัฒนาเนยเทียมจากงาขี้ม้อน ชี้อุดมด้วยโอเมก้า 3 และ 6 ไร้ไขมันทรานส์ รอส่งต่อภาคธุรกิจเอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ พร้อมต่อยอดขยายสู่ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่

นายสุกฤต ศิริขวัญพงศ์ ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ประจำภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนาสูตรเนยเทียมจากงาขี้ม้อน และยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะถ่ายทอดแก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2561 ในกลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รางวัลระดับดี และระดับเหรียญทองในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ

เนยเทียมหรือมาการีนผลิตจากไขมันพืช ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นแหล่งไขมันทรานส์ (ไขมันไม่อิ่มตัว) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทีมวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะผลิตเนยเทียมที่มีสัดส่วนไขมันโอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย ขณะที่งาขี้ม้อน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรพบมากในภาคเหนือและเป็นพืชชนิดเดียวที่มีโอเมก้าสูงสุด จึงน่าจะตอบโจทย์วิจัยนี้ได้

นักวิจัยได้พัฒนาสูตรผสมโดยใช้ไขมันหลายชนิดที่เป็นวัตถุดิบในประเทศทั้งหมด นำมาผสมกันเพื่อหาอัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับผลิตเป็นเนยเทียมหรือมาการีน ที่มีรสหวานจากน้ำตาลแคลอรี่ต่ำ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถทาบนขนมปังได้เหมือนกับแยม พบว่า กระบวนการผลิตไม่ได้ใช้ความร้อนสูงแต่ต้องแช่ในตู้เย็น แตกต่างจากมาการีนแข็งที่อยู่ในอุณหภูมิห้องได้นั้นจะมีไขมันทรานส์สูง

จากการคำนวณต้นทุนการผลิตเนยเทียมจากงาขี้ม้อนในระดับห้องปฏิบัติการ ปริมาณ 150 กรัมราคา 40 บาท 50% ของต้นทุนผลิตมาจากงาขี้ม้อน แม้ว่าจะซื้อเป็นเมล็ดมาหีบออกมาเป็นน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลงประมาณ 290 มิลลิกรัมราคา 90 บาทยังถือว่าสูง แต่หากซื้อในตลาด 1 ลิตรราคา 800 บาท ดังนั้นผู้ประกอบที่จะทำธุรกิจนี้ควรจะหีบน้ำมันเองเพื่อลดต้นทุน จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่เข้ามาต่อยอดควรจะมีพื้นฐานธุรกิจน้ำมันมากก่อนจึงจะได้เปรียบ ทั้งนี้ ราคางาขี้ม้อนที่ยังไม่ผ่านการหีบ 80-90 บาทต่อกิโลกรัม หากผ่านการหีบมาแล้วขนาด 1 ซีซี ราคาประมาณ 1 บาทกว่า

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดต่อยอดการผลิตเนยเทียมที่มีส่วนผสมของงาขี้ม้อนมาใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่อิงเทรนด์รักสุขภาพซึ่งมีจำนวนมากขึ้น และเป็นทางเลือกให้ผู้ผลิตได้ใช้วัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพในการผลิตเบเกอรี่โอเมก้าสูง

ในอนาคตงาขี้ม้อนจะเป็นพืชทางเลือกที่มีโอกาสสร้างมูลค่าในกลุ่มคนรักสุขภาพ รวมไปถึงภาคธุรกิจที่เล็งเห็นคุณประโยชน์ในพืชชนิดนี้ที่อุดมด้วยสารโอเมก้า ถือเป็นจุดเด่นที่สามารถเข้าทำตลาดต่างประเทศที่นิยมน้ำมันเมล็ดคาโนลา ซึ่งนำมาผลิตเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพ

“แม้ว่าหลายคนมองเป็นเรื่องยาก แต่ผมกลับรู้สึกสนุกที่ได้พัฒนางานวิจัยนวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดในอุตสาหกรรมจากเดิมที่ทำวิจัยในเชิงการแพทย์ แนวทางการทำงานของผมจะโฟกัสเรื่องของไขมันอาหาร เพราะมนุษย์หลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันไม่ได้ แต่ควรเลือกรับประทานไขมันที่ดีในสัดส่วนที่พอเหมาะ จึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งนี้ ดีที่สุดควรเริ่มต้นจากการรับประทานไขมันที่ดีต่อสุขภาพ” นายสุกฤต กล่าว