คีย์เวิร์ดวิจัยขึ้นห้าง ใช้ได้จริง-วิธีผลิตง่าย

คีย์เวิร์ดวิจัยขึ้นห้าง  ใช้ได้จริง-วิธีผลิตง่าย

“หมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก” เคสตัวอย่างระหว่างนักวิจัยเจ้าของผลงานกับภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ นักวิจัยมก. เผยเคล็ดลับผลงานต้องแก้ปัญหาได้จริง ใช้ง่ายและวิธีผลิตไม่ซับซ้อน

“หมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก” เคสตัวอย่างในวงเสวนาแชร์ประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยเจ้าของผลงานกับภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยเคล็ดลับผลงานต้องแก้ปัญหาได้จริง ใช้ง่ายและวิธีผลิตไม่ซับซ้อน ขณะเดียวกันผลงานนวัตกรรมต้องกำหนดราคาให้สูง เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามราคาในตลาด

ต้องแก้ปัญหาได้จริง

ส.พญ.มนชนก วิจารสรณ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของหมุดยึดแผ่นดามและแผ่นดามกระดูกสำหรับสัตว์เล็ก เกิดจากทางคลินิกมีปัญหาการต่อกระดูกในสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สุนัขพันธุ์เล็กอย่างชิสุและปอมเมอเรเนียน ที่ไม่มีอุปกรณ์การแพทย์เฉพาะที่ใช้ได้ ที่ผ่านมาแก้ปัญหาด้วยการนำแผ่นดามกระดูกบนใบหน้ามนุษย์ไปใช้แทนแต่ผลิตภัณฑ์ออกแบบให้ใช้กับใบหน้า จึงไม่สามารถรับแรงได้มากเมื่อนำมาใช้กับขาจึงแตกหักง่าย

โครงการพัฒนาหมุดยึดแผ่นดามฯ ทำงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) ตั้งแต่การออกแบบกระทั่งสามารถผลิตต้นแบบออกมาทดลองใช้ หลังจากนั้นได้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในตลาดเครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์จะต้องจำหน่ายพร้อมการฝึกอบรม ไม่สามารถวางขายในตลาดเหมือนคอนซูเมอร์โปรดัก เพราะหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี ผลเสียอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต

ส. พญ. มนชนก กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการต้องปรับตัวไม่ใช่ทำงานวิจัยที่ซับซ้อนเหมือนเดิม แต่ต้องหาวิธีการที่เป็นโซลูชั่นที่ง่ายแต่แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์จะต้องทำให้แพทย์ทั่วไปที่ไม่ใช่แพทย์เฉพาะทางสามารถใช้งานได้ง่าย อีกเหตุผลหนึ่งคือ จะทำให้การขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศง่าย หากผู้ใช้งานเรียนรู้ได้รวดเร็ว เพราะนวัตกรรมที่ดีต้องใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนและมีประสิทธิภาพจริงถึงจะขายได้

รัตติญา ศริดารา ผู้อำนวยการสำนักงานบริการวิชาการ กองสนับสนุนงานวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทางหน่วยงานมีหน้าที่ประสานงานระหว่างนักวิจัยกับนักลงทุน ต้องดูว่า งานวิจัยพร้อมขายหรือยัง สามารถนำไปต่อยอดได้จริงไหม เมื่อจะจับมือเอกชนก็ต้องศึกษาว่ามีศักยภาพการผลิตและทำตลาดมากน้อยขนาดไหน ขณะเดียวกันการประเมินมูลค่าเทคโนโลยีที่จะออกสู่ตลาดจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของเอกชนด้วย โดยมีการประเมินราคาเพื่อให้เอกชนที่ลงทุนสามารถแข่งขันในตลาดได้

นอกจากนี้ การทำธุรกิจในยุคนี้จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน แหล่งรวบรวมเทคโนโลยี 80% อยู่ในสถาบันอุดมศึกษา แถมยังมีนักวิจัยพร้อมให้การช่วยเหลืออีกด้วย

ทพ. วิจิตร ธรานนท์ ที่ปรึกษาและอดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือมาตรฐาน นักวิจัยควรจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ เหมือนอย่าง ส.พญ.มนชนก เป็นผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดดามกระดูกสัตว์ แต่จะต้องมีตัวเชื่อมในการดึงคนสองกลุ่มคือนักวิจัยและนักลงทุนเข้ามาคุยกัน เพื่ออุดช่วงว่างตั้งแต่ต้นจนจบ และที่สำคัญทำแล้วต้องขายได้ ฉะนั้น นวัตกรรมนั้นจะต้องมีตลาดรองรับ

ข้อแนะนำในการทำตลาดเครื่องมือแพทย์คือ ถ้านวัตกรรมมีโอกาสสู่ตลาดสูง การขายเกิดขึ้นได้แต่สิ่งสำคัญจะต้องพัฒนาทั้งระบบ มีการอบรมการใช้งานจากผู้ที่เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือสินค้าไทยทั้งๆ ที่ตลาดต่างประเทศยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน ฉะนั้น จึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นให้ได้

โซลูชั่นสู้สงครามราคา

นริศชา ต่อสุทธิ์กนก บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นฐานของบริษัททำการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่มีลูกค้าในโซนยุโรปและอเมริกาว่าจ้างผลิตเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า จึงเป็นที่มาในการแตกไลน์ธุรกิจมายังกลุ่มเครื่องมือแพทย์

หลังจากได้พบผลงานหมุดยึดแผ่นดามฯ ในงานนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ จึงสนใจที่จะผลิตสู่ตลาด เนื่องจากเครื่องมือแพทย์ที่ใช้กับสัตว์มีโอกาสเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ซื้อลิขสิทธิ์งานวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์

นริศชา กล่าวว่า จากประสบการณ์ได้แนะนำให้ผู้สนใจศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน และไม่ควรคาดหวังไว้ว่า ผลงานวิจัยของตนเองจะยึดครองส่วนแบ่งตลาดได้ง่ายๆ ที่สำคัญไม่ควรตั้งราคาขายถูกกว่าคู่แข่งต่างประเทศ ซึ่งจะมีมาตรการตอบโต้ด้วยการลดราคาขายมากกว่าก็สามารถฆ่าคุณได้ ด้วยต้นทุนต่ำกว่าเนื่องจากผลิตขายได้ทั่วโลก ฉะนั้น แนวทางการทำนวัตกรรมจึงไม่ควรคิดทำนวัตกรรมหนึ่งขึ้นมาแล้วพึ่งพาระบบของคนอื่น แต่ควรสร้างระบบขึ้นมาเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากระบบ