10เครือข่ายปชช. จี้คสช.วางมือจากอำนาจ 4รมต.พปชร.ลาออก

10เครือข่ายปชช. จี้คสช.วางมือจากอำนาจ 4รมต.พปชร.ลาออก

เครือข่ายปชช.10กลุ่ม รวมตัวจับตาเลือกตั้ง จี้ "คสช." วางมือจากอำนาจ บี้ "4รมต." พรรคพปชร.ลาออก

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ กลุ่มคนต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและเกิดผลเป็นรูปธรรม (FFFE- Free Fair & Fruitful Election) ที่นำโดย นายอนุรณ์​ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้ประสานงานกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง แถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายและแนวร่วมที่จะจับตาการเลือกตั้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กว่า 10 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง, คนอยากเลือกตั้ง, กลุ่มคนฟื้นฟูประชาธิปไตย, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี เป็นต้น เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี เป็นธรรม พร้อมเรียร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งและการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน รวมถึงเรียกร้องให้ 4 รัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ลาออกจากตำแหน่ง

โดยนายอนุสรณ์​  กล่าววว่าเครือข่ายคาดหวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นกลไกทางประชาธิปไตยที่นำประเทศกลับไปสู่ภาวะปกติ พร้อมกับคลี่คลายปัญหารวมถึงความขัดแย้ง แต่ความคาดหวังดังกล่าวยังมีความกังวลว่าการเลือกตั้งจะไม่มีผลในทางปฏิบัติหรือเสรี หรือเป็นธรรม ดังนั้นทางเครือข่ายเตรียมทำกิจกรรมทั้งการจัดเสวนาวิชาการโดยเชิญนักการเมือง และกลุ่มการเมืองเข้าร่วม ซึ่งทางเครือข่ายคาดหวังว่าผลการเสวนาวิชาการจะนำไปสู่การสัญญาหรือลงสัตยาบรรณของตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาของประชาชนหลังเลือกตั้ง

นายอนุสรณ์​ กล่าวด้วยว่าเครือข่ายยังหารือกับเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อัลเฟรล) เพื่อทำกิจกรรมจับตาการเลือกตั้ง เพราะตนยังกังวลในการเลือกตั้งที่จะมาถึง หากบางฝ่ายไม่มั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง อาจเกิดการทุจริตเลือกตั้งอย่างกว้างขวางได้ ดังนั้นขั้นตอนดังกล่าวรวมถึงบทบาทด้านการตรวจสอบ โดยเบื้องต้นจะใช้เครือข่ายของนักศึกษาขับเคลื่อน แต่รายละเอียดที่ชัดเจนจะแถลงต่อไป

ขณะที่ น.ส.ชลธิชา กล่าวเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันจับตาการโกงเลือกตั้งตั้งแต่บัดนี้ เพราะส่วนตัวไม่มั่นใจว่า คสช.​จะใช้อำนาจใดๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองหรือไม่ นอกจากนั้นทางกลุ่มคาดหวังต่อการเลือกตั้ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ว่าจะมีหลักการและมีความหมายกับประชาชน ดังนั้นต้องเปิดโอกาสและพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้สะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขได้อย่างเปิดเผย ขณะเดียวกับต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม พบปะ และพูดคุยกับประชาชนอย่างเต็มที่ โดยไม่มีอำนาจรัฐคุกคาม

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับตัวแทนเครือข่ายที่ร่วมแถลง ทั้งเครือข่ายแรงงาน, ไอลอว์, สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียกร้องในแนวทางเดียวกัน คือ ให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งหรือประกาศคสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และขัดขวางการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างเสรี  นอกจากนั้นต้องวางอำนาจ โดยเฉพาะ มาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช. ออกประกาศหรือคำสั่งใดๆ เพิ่มเติมได้รวมถึงให้รัฐบาล คสช. ยกเลิกการใช้เงินภาษีของประชาชนลงพื้นที่หาเสียง และ ให้ 4 รัฐมนตรีที่ไปทำงานกับพรรคพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย