หุ้น ‘กูเกิล’ ปิดร่วงรับข่าวข้อมูลรั่วครึ่งล้านบัญชี

หุ้น ‘กูเกิล’ ปิดร่วงรับข่าวข้อมูลรั่วครึ่งล้านบัญชี

หุ้นของ “กูเกิล” ปิดร่วง 1% หลังมีข่าวข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชี “กูเกิลพลัส” (Google+) ครึ่งล้านบัญชีรั่วไหล

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ราคาหุ้นของบริษัทอัลฟาเบท บริษัทแม่ของยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต “กูเกิล” ปิดตลาดร่วงลง 1.02% มาอยู่ที่ 1,155.92 ดอลลาร์ เมื่อวันจันทร์ (8 ต.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น หลังอัลฟาเบทประกาศว่าจะปิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ “กูเกิลพลัส” ภายใน 10 เดือนข้างหน้า และมีรายงานว่าข้อมูลผู้ใช้กูเกิลพลัสราว 500,000 บัญชีรั่วไหล

การดิ่งลงของหุ้นกูเกิลมีขึ้นหลังเว็บไซต์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า สาเหตุที่แท้จริงของการปิดกูเกิลพลัสมาจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากบัญชีผู้ใช้งานประมาณ 500,000 บัญชี ผ่านช่องทางการเชื่อมต่อเพื่อเรียกใช้งานของแอพพลิเคชั่นจากนักพัฒนาภายนอก 438 แอพพลิเคชั่น ซึ่งกูเกิลตรวจพบช่องโหว่นี้เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา แต่ตัดสินใจไม่เปิดเผยข้อมูลออกสู่ภายนอกและเร่งแก้ไขสถานการณ์เองเป็นการภายใน เนื่องจากประเมินในเบื้องต้นว่ายังไม่มีบุคคลที่สามนำข้อมูลไปใช้งานอื่น

อย่างไรก็ตาม อัลฟาเบทและกูเกิลปฏิเสธแสดงท่าทีต่อรายงานของวอลล์สตรีท เจอร์นัล

หากรายงานของวอลล์สตรีท เจอร์นัล มีมูลความจริง ถือได้ว่าช่วงเวลาที่กูเกิลตรวจพบความผิดปกติกับกูเกิลพลัสใกล้เคียงกับกรณีของเฟซบุ๊คถูกเปิดโปงเมื่อเดือนเม.ย. ว่า บริษัทเคมบริดจ์ อนาลิติกา สามารถดึงข้อมูลของผู้ใช้งานมากถึง 87 ล้านบัญชี ไปใช้เพื่อการสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง และนายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊ค ยอมเข้าพบวุฒิสภาสหรัฐด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกเพื่อชี้แจงเรื่องนี้ ขณะที่นายซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิล ยังคงยืนกรานปฏิเสธเข้าพบฝ่ายนิติบัญญัติในกรุงวอชิงตันมาโดยตลอด

ก่อนหน้านี้ บริษัทอัลฟาเบท แถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ว่า เตรียมยุติให้บริการกูเกิลพลัส ภายในสิ้นเดือนส.ค. ปีหน้า โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีผลเฉพาะกับ “ผู้ใช้งานทั่วไป” ซึ่งบริษัทขอให้ลูกค้าใช้เวลาในระหว่างนี้ดาวน์โหลดข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้ แต่ลูกค้าองค์กรจะยังคงใช้บริการเครือข่ายได้ต่อไปตามปกติ และบริษัทจะเพิ่มมาตรการปกป้องข้อมูลให้รัดกุมยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัลฟาเบทระบุว่า เหตุผลที่เตรียมปิดตัวกูเกิลพลัสเป็นเพราะมีอัตราการใช้งานรายเดือนที่ลดลงมากในส่วนของลูกค้าทั่วไป และยืนยันว่า “ความผิดปกติ” ของระบบไม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ กูเกิลพลัสเปิดตัวเมื่อปี 2554 ด้วยความหวังให้เป็นคู่แข่งทางตรงกับยักษ์ใหญ่สังคมออนไลน์อย่าง “เฟซบุ๊ค”