ปฏิวัติอุตฯอาหาร นวัตกรรมฟื้นโลกสวย

ปฏิวัติอุตฯอาหาร นวัตกรรมฟื้นโลกสวย

ความฝันของนักธุรกิจเพื่อสังคม นักรณรงค์เพื่อโลกยั่งยืน ที่หวังปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมโลกที่ครอบงำโดยธุรกิจไม่กี่รายที่เน้นผลิตปริมาณมากแต่ไร้คุณภาพ เขาออกแบบโมเดลธุรกิจพลิกฟื้นโลก ให้เข้าถึงอาหารปลอดภัย อากาศบริสุทธิ์ สังคมดี ส่งต่อเจเนอเรชั่นถัดไป

ท่ามกลางอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่มีการผลิตยังไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนใช้ทรัพยากรเกินความต้องการ เกิดของเสีย ก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ สาเหตุใหญ่ที่ทำให้โลกใบนี้แปรปรวนเพราะขาดความสมดุล ที่สำคัญการผลิตแบบอุตสาหกรรมอาหารในแบบเดิม กลับไม่ได้สร้างผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัย มีคุณค่าอาหารสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับมนุษย์ในยุคปัจจุบัน

นี่คือปัญหาที่นำโลกไปสู่หายนะในหลายด้านที่ มาร์ค บัคลีย์ (Marc Buckley) ชายชาวเยอรมัน ผู้ที่มีแพสชั่นในการเปลี่ยนแปลงโลกกำลังอาจจะเดินไปสู่ทางตัน ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่โลกที่ดีกว่า สวยงามกว่า โดยที่ผู้คนมีอาหารดีกิน สุขภาพดี หายใจรับอากาศอันบริสุทธิ์ มีอายุยืนยาว ตามมาด้วยสังคมที่ดี ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่เขาไปพูดในงาน Global Business Dialogue 2018 : Innovating the Sustainable Future จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในหัวข้อ “Circular Economy: The Future of Food”

บางคนต้องการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่มีนวัตกรรมพาคนไปดวงจันทร์ หรือนวัตกรรมต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลของการดูแลโลก ที่ช่วยแก้ปมปัญหาที่แท้จริงที่โลกเผชิญคือการเสียสมดุลด้านทรัพยากร”เขาชี้ถึงปัญหาสำคัญของโลก กับประชากรที่จะเพิ่มขึ้น 9,000 ล้านคนในปี 2050 กับทรัพยากรที่มีจำกัด

ความฝันเปลี่ยนแปลงโลกใบใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย มาร์ค จึงไม่ใช่เพียงพูด แต่เป็นทั้งต้นแบบศึกษา วิจัย และลงมือทำอย่างจริงจัง หลายคนเป็นเพียงนักเรียกร้อง วิจัย แต่เขาเป็นทั้งหมดในตัวคนเดียว

จึงเป็นที่มาทำให้เขามีตำแหน่งมากมายทั้งสังคม ธุรกิจ และผู้นำทางความคิด ประกอบด้วย นักเคลื่อนไหว(Activist), นักปฏิวัติวงการอาหารโลก (Global Food Reformist), ผู้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ(UN SDG -Sustainable Development Goals), เครือข่ายเวิล์ดอีโคโนมิคฟอร์รัม, นวัตกร ผู้สร้างอนาคตด้านความยั่งยืน, เป็นปรมาจารย์ให้ความรู้ด้านความยั่งยืนในมหาวิทยาลัย และเป็นนักพูดเรื่องภาวะโลกร้อนในเท็ด ทอล์ค (TEDx Speaker)

รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Adaptive Nutrition Joint Achievements (ANJA GmbH & Co. KG และ ALOHAS ECO-Center) กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% โดยการผสมผสานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต ที่ปัจจุบันร่วมมือกับภาคธุรกิจหลายแห่ง เช่น โคคา-โคลา ที่ตั้งเป้าหมายจะผลิตขวดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งย่อยสลายและนำกลับมาใช้ใหม่ 50%

โคคา โคลา รู้ตัวดีว่าระบบการผลิตพลาสติกส่งผลต่อขยะบนโลก อันจา อโลฮา จึงเข้าไปพัฒนากระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการหาวิธีการผลิตน้ำดื่มจากขวดพลาสติกในวิธียั่งยืน คิดค้นกระบวนการผลิตพลาสติกย่อยสลาย สร้างระบบรับซื้อขวดเก่าเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเห็นว่าต้องลุกขึ้นมาหาแนวร่วมในสร้างโลกสีเขียวและยั่งยืนให้กับมวลมนุษยชาติ มาจากการที่เขาขับรถไปกับครอบครัวเพื่อพักผ่อนตอนใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา เขาพบว่าผู้บริโภคอย่างเขาไม่มีทางเลือกมากนัก ในซูเปอร์มาร์เก็ตเต็มไปด้วยขนมหวาน น้ำตาล และกระบวนการผลิตใช้พลังงานน้ำ ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากกว่าทรัพยากรทั้งหมดที่มีในโลก รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเลี้ยงแบบสิ้นเปลืองทรัพยากร

เขามองว่านี่คือจุดผิดพลาดของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ต้นตอสำคัญของภาวะโลกร้อนคือภาคการผลิต เกษตรกรรม

เขาหยิบยกข้อมูล 30% ของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารถูกผลิตแต่ไม่ได้นำมาใช้ กลายเป็นขยะที่เพิ่มอุณหภูมิให้กับโลก ทั้งภาคการผลิต ตลาด และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมากเกินกว่าปริมาณทรัพยากรที่มีในโลกไม่เพียงพอเลี้ยงคนทั้งโลก หากยังวนเวียนเช่นนี้

ยิ่งไปกว่านั้นระบบการผลิตอาหารในปัจจุบันกลับทำให้ประชากรทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคนป่วย เป็นโลกภูมิแพ้ ขาดสารอาหาร น้ำหนักเกิน และปนเปื้อนสารเคมี ในระหว่างที่อีกซีกโลกหนึ่ง ทวีปแอฟริกา หรือบางพื้นที่ในโลกกลับกำลังหิวโหย ขาดอาหารและน้ำดื่ม

นี่คือปัญหาสำคัญที่อุตสาหกรรมอาหารต้องปฏิวัติตัวเอง ก่อนที่จะโดนแทนที่ด้วยนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแท้จริง จากกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่คล่องตัวรวดเร็ว ปรับตัวเก่ง และมาพร้อมด้วยไอเดียและเทคโนโลยี เขาเชื่อว่าภายใน 3 ปี ธุรกิจใหม่ที่พัฒนาด้านอาหารยั่งยืนจะมาช่วงชิงตลาดแน่นอน

เทรนด์สุขภาพ คนทานมังสวิรัติ ไม่ทานเนื้อสัตว์มากขึ้น มีการคิดค้นโปรตีนที่ไม่ใช่จากสัตว์ เพราะการผลิตเนื้อจากสัตว์ใช้ทรัพยากรน้ำมากกว่าพืชเกือบพันเท่า นวัตกรรมอาหารเทรนด์ใหม่จึงมีโอกาสแทนที่อุตสาหกรรมอาหารแบบเดิม เขาทำนายอนาคต

นี่คือโอกาสที่จะทำให้ความฝัน(Passion) ที่เขาจะปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก และเขาเชื่อว่าอันจา (Anja) จะเป็นบริษัทที่ขยายอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย ระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปทั่วโลก หลังจากที่ได้พัฒนาในเยอรมัน บ้านเกิดของเขา ก็ได้เข้ารุกทำตลาดในสวีเดน อิตาลี อยู่ระหว่างทดลองในจีน และภูมิภาคเอเชีย สำหรับในไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเขาภายใน 2ปีข้างหน้า

โมเดลธุรกิจที่เขาพัฒนาขึ้นมาสามารถเข้าไปพัฒนาคือ การทำฟาร์มแนวดิ่ง (Vertical Farm) ที่ปลูกพืชเป็นชั้นๆ จึงไม่เปลืองพื้นที่ในโรงเรือนแบบปิด ใช้ทรัพยากรน้ำจากฝน อากาศ และแสง รวมถึงอุณหภูมิ จากธรรมชาติมาสะสมเป็นพลังงานหมุนเวียน ควบคุมด้วยระบบอัจฉริยะ เป็นระบบที่พร้อมขยายไปทั่วโลก เพียงมีพื้นที่ คน และเงินลงทุนราว 350 ล้านยูโร (ราว 13,000 ล้านบาท) ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่ 50 เฮกตาร์ ใช้พลังงานหมุนเวียน 80 เมกะวัตต์ แบตเตอรี่ 150 เมกะวัตต์ ใช้น้ำดื่ม 300 ล้านลิตร มีการจ้างงาน 1,440 อัตรา และผลิตอาหารได้ 100 ล้านเมตริกตัน

ซึ่งเขาเชื่อว่าระบบการผลิตเช่นนี้จะมีต้นทุนถูกกว่าในระยะยาว เพราะใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ต้องซื้อพลังงานจากภายนอก

สำหรับประเทศไทยที่กลุ่มผู้ผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ๋ ภายใต้บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่กลุ่ม ที่ผู้ผลิตเหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่เช่นนั้นสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่ผลิตอาหารด้วยเทคโนโลยีใหม่เช่นนี้ จะค่อยๆ แทนที่ตลาด

เขามองว่าเมืองไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตมหาศาลด้านอาหาร เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นแหล่งผลิตอาหารหนึ่งใน 5 ของโลก

เขาเน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญของการพัฒนาโลกยั่งยืน ไม่ใช่เพียงระบบการผลิตอาหารที่ดีที่สุดในโลก แต่ใช้ทรัพยากรสิ้นเหลือง แต่หมายถึงการคิดแบบเป็นระบบทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การเพาะปลูก พลังงาน การนำมาใช้โดยไม่มีของเหลือทิ้ง ตลอดจน บรรจุภัณฑ์และการทำการตลาด คิดเป็นวงกลมครบลูป ทั้งนำกลับมาใช้ และทำให้ย่อยสลายได้ หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

หากทั่วโลกมีการบริหารจัดการอาหารเหลือทิ้ง 1 ใน 3 อย่างเป็นระบบ โดยนำอาหารหนึ่งใน 4 ส่วนของอาหารเหลือทิ้ง มากระจายอย่างทั่วโลกปริมาณของอาหารสามารถเลี้ยงคนได้ทั้งโลกอย่างพอเพียง นี่คือความสมดุลที่เขาหวังจะเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศา และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) 17 ข้อ ที่พื้นฐานส่วนใหญ่มาจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทั่วโลก คืออาหารที่ดี อากาศบริสุทธิ์ จึงทำให้มีสังคมที่ดี