ทร.เตรียมส่งเรือหลวงอ่างทองช่วยผู้ประสบภัยอินโดฯ

ทร.เตรียมส่งเรือหลวงอ่างทองช่วยผู้ประสบภัยอินโดฯ

"กองทัพเรือ" เตรียมส่งเรือหลวงอ่างทอง ช่วยผู้ประสบภัยที่อินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.61 พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้มีคำสั่งเร่งด่วนให้ พล.ร.อ.นพดล สุภาการ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) มีการเตรียมความพร้อมกำลังพลและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยขั้นสูงสุด เพื่อเตรียมเดินทางปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว-สึนามิ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชม.ตามกำหนดออกเดินทางในเวลา 13.30 น.วันเสาร์ที่ 6 ต.ค.61 ณ ท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ต่อมา พล.ร.อ.นพดล ได้สั่งการให้เรือหลวงอ่างทอง หมายเลข 791 สังกัดกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจให้เตรียมพร้อมกำลังพลประจำเรือ พร้อมให้การรองรับกำลังหน่วยทีมแพทย์ กรมแพทย์ทหารเรือที่จะร่วมเดินทางไปพร้อมกับเรือ อย่างเต็มกำลังความสามารถ นอกจากนี้ให้ยกระดับขีดความสามารถของเรือให้เป็นโรงพยาบาลสนามระดับ 2 มีห้องตรวจโรค ห้องผู้ป่วย 4 เตียง และผู้ป่วยเฝ้าระวัง 2 เตียง ห้องผ่าตัดเล็ก ชุดเครื่องมือเอ็กซเรย์และห้องทันตกรรม

นอกจากนี้ให้มีการเพิ่มจำนวนแพทย์และเครื่องมือในการรักษาพยาบาลช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นต้น รวมถึงขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยให้มากขึ้น และสามารถลำเลียงผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือจำเป็นต้องใช้การรักษาระดับสูง จากทะเลสู่ชายฝั่งได้

ผบ.ทร. กล่าวว่า กองทัพเรือเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ ในประเทศอินโดนีเซีย โดยรับคำสั่งจากรัฐบาล ซึ่งการดำเนินภารกิจครั้งนี้ ได้ส่งเรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ และเป็นเรือในประจำการที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของกองทัพเรือไทย รองจากเรือหลวงจักรีนฤเบศร และเรือหลวงสิมิลัน มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือประชาชน การบรรเทาสาธารณภัย ค้นหา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก และการขนส่งลำเลียงทางทะเล เป็นเรือบัญชาการและฐานปฏิบัติการในทะเล

ส่วนกำลังพลหลักที่ร่วมในภารกิจเป็นหน่วยทีมแพทย์จากกรมแพทย์ทหารเรือ จากโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ รวม 2 ชุด ที่ได้ผ่านการฝึกซ้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย (HADR) ถือเป็นชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสูงในภาวะภัยพิบัติ จึงเชื่อมั่นได้ว่า การเดินทางไปให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะสามารถช่วยเหลือชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก และสร้างสัมพันธ์ไมตรีในฐานะมิตรประเทศให้มั่นคงสืบไป