สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 1-5 ตุลาคม 2561

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 1-5 ตุลาคม 2561

“เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ตลาดหุ้นไทยลดลงตามตลาดภูมิภาค”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด (อาทิ ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน) เป็นปัจจัยบวกของค่าเงินดอลลาร์ฯ และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี  

- ในวันศุกร์ (5 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.85 จากระดับ 32.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 3/2561 ของบริษัทจดทะเบียน และสัญญาณเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในระหว่างสัปดาห์ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนต.ค. (เบื้องต้น) นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,720.52 จุด ลดลง 2.04% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 12.19% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 57,388.09 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 449.37 จุด ลดลง 1.54% จากสัปดาห์ก่อน

- ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (หลังสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับแคนาดาและเม็กซิโก แต่การเจรจาการค้ากับจีนยังไร้ความคืบหน้า) ความเปราะบางของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากแนวทางการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ประกาศโดยธปท.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,705 และ 1,690 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,730 และ 1,740 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ตลอดจนถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. ของประเทศแถบยุโรป