'บีอีซี เวิลด์' แก้เกมสู้ ทีวีดิจิทัลป่วน 'กำไร' ทรุด

'บีอีซี เวิลด์' แก้เกมสู้ ทีวีดิจิทัลป่วน 'กำไร' ทรุด

เฟ้นหาธุรกิจดวงใหม่ในตลาด Blue Ocean ปฏิบัติการหนีตลาดทีวีดิจิทัลแข่งเดือด สะท้อนผ่านขาดทุนรอบ 22 ปี แต่ที่สำคัญคือการกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' อีกครั้งปีหน้า...!! วิชั่นต่อไปของ 'ประชุม มาลีนนท์' บอสใหญ่ แห่ง 'บีอีซี เวิลด์'

ผ่านมา 5 ปี (ธันวาคม 2556) กลับการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ทว่าปัจจุบันสถานการณ์ผู้ประกอบการเกือบทุกเจ้าต้องประสบกับ 'สภาวะขาดทุน' อย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ผ่านเรทติ้งการรับชมไม่เข้าเป้า , รายได้ลด , กำไรหดตัว , ต้นทุนพุ่ง สอดรับกับทิศทางของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรวดเร็วในยุคปัจจุบัน 

สอดคล้องกับ หนึ่งในผู้ประกอบการ TOP 2 ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาคอบครองเม็ดเงินโฆษณาเป็นกรอบเป็นกำอย่าง บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC ของ 'ตระกูลมาลีนนท์' ยังสะเทือน...!! 

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง (2558-2560) ที่ปรับตัว 'ลดลง' และกลายมาเป็น 'พลิกขาดทุน' ในปี 2561 ล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2561  มีรายได้อยู่ที่ 16,017.91 ล้านบาท 12,534.57 ล้านบาท 11,226.06 ล้านบาท และ 5,227.88 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,982.71 ล้านบาท 1,218.29 ล้านบาท 61.01 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ -148.56 ล้านบาท  

ขณะที่ 'มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด' หรือ Market Cap ตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มูลค่ามาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท (3 ม.ค.) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่ามาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 12,000 ล้านบาท   

ยิ่งผลงานไม่สวย สะท้อนมาที่ราคา 'หุ้น BEC' นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันพบว่า ราคา 'สูงสุด' อยู่ที่ 14.20 บาทต่อหุ้น (4 ม.ค.2561) และราคา 'ต่ำสุด' 6.80 บาทต่อหุ้น (2 ต.ค.2561) ซึ่งราคาหุ้น BEC ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ขยับตัวลดลงเฉลี่ย 46.54%    

ปัจจุบัน กลุ่มบีอีซีมีช่องประมูลจำนวน 3 ช่อง ประกอบด้วย ช่องรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว (3 Family) , ช่องรายการความคมชัดปกติ (3 SD) และช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดสูง (3 HD) 

แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา 'นีลเส็น' จะระบุว่าสัดส่วนการซื้อโฆษณาแพลตฟอร์มทีวีดิจิทัลมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 3,871 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 3,316 ล้านบาท หรือ 16.74% มูลค่าราว 555 ล้านบาท  

'ประชุม มาลีนนท์' รองประธานกรรมการ บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ยอมรับว่า ปี 2561 บริษัทมีผลประกอบการ 'ขาดทุนสุทธิ' เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2539 หรือกว่า 22 ปี เนื่องจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลที่สูง และมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลากหลายรายเข้ามาแย้งเม็ดเงินโฆษณาที่มีเท่าเดิมแต่ผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณามีการกระจายออกไปในสื่อที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ใช้สปอตโฆษราเพียงช่องทางเดียว สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของบีอีซี โดยการขยับตัวเข้าไป 'ตลาดใหม่' (Blue Ocean) แต่ยังอยู่บนพื้นฐานธุรกิจเดิมที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่ง ซึ่งจะไม่เข้าไปในตลาดที่บริษัทไม่มีความถนัด !! 

การที่บริษัทจำเป็นต้อง 'ปรับพอร์ตรายได้' (Diversify) ในตลาดใหม่นั้น เนื่องจากตลาดเดิมธุรกิจแข่งขันกันสูง (Red Ocean)  ส่งผลให้ 'มูลค่าทางการตลาด' (Value) ลดลงอีกด้วย สอดคล้องกับในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบางราย Diversify ตัวเองเข้าในธุรกิจใหม่ๆ เช่น ขายสินค้าออนไลน์ , เครื่องสำอาง เป็นต้น 

ขณะที่ บริษัทมีแนวทางของตัวเอง คาดว่าปลายปีนี้แผนธุรกิจจะมีความชัดเจน โดยปีหน้าจะต้องเห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะกลุ่มบีอีซีมีโครงสร้างธุรกิจใหญ่ ฉะนั้น การขับเคลื่อนในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงจะเหนื่อย เพราะว่าต้นทุนก็สูงตามไปด้วย  

'สถานการณ์ทีวีดิจิทัลในปัจุบัน ปัญหาหลักๆ คือ ซัพพลายโอเวอร์ดีมานด์ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายยังไม่เชื่อ (believe) และเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจตรงนี้จริงๆ เมื่อเข้ามาในธุรกิจพบว่าไม่ได้มีเม็ดเงินโฆษณามากอย่างที่คิดไว้'    

เขา บอกต่อว่า ในปี 2562 คาดว่าตัวเลขผลประกอบการมีโอกาสกลับมา 'เทิร์นอะราวด์' โดยเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาขยายตัวมากขึ้นจากปัจจุบัน หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และปัจจัยบวกทางการเมืองที่มีความชัดเจนที่คาดว่าจะเลือกตั้งในต้นปี 2562  น่าจะส่งผลดีต่อเม็ดเงินโฆษณาปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องติดตามผู้ประกอบการสินค้าต่างๆ จะมีปรับกลยุทธ์อย่างไรอีกด้วย 

'ปีหน้าเราหวังจะกลับมามีกำไรอีกครั้ง ซึ่งเราอยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจคาดว่าจะเสร็จราวปลายปีนี้ เพราะว่าต้องรอดูการใช้งบประมาณการตลาดของผู้ประกอบการต่างๆ ที่จะใช้โฆษณาในปีหน้า'  

ทั้งนี้ จากการแข่งขันที่มากขึ้นในอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเงินโฆษณา (AdEx) ที่เปลี่ยนตามพฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภค ซึ่งบริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ใหม่ในการเข้าไปในตลาดใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สามารถขยายธุรกิจและสร้างผลตอบแทนที่ดี 

สะท้อนผ่านเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลุ่มบีอีซี ได้จับมือครั้งสำคัญกับเทนเซนต์วิดีโอโดยผ่านทางบริษัทอินไซท์เทคโนโลยีประเทศไทยในการฉายละคร 'ลิขิตรัก The Crown Princess' ในระบบ Simulcast หรือการออกอากาศคู่ขนานในวันเดียวกันที่ประเทศไทยและจีน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เทนเซนต์วิดีโอ มียอดสมาชิกวีไอพีกว่า 63 ล้าน User มียอดใช้งาน 140 ล้าน User ต่อวัน และ 790 ล้าน User ต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ชมที่สูงมาก

นอกจากลิขิตรักแล้ว ซีรีส์อีก 2 เรื่องอยู่ในแผนงานคือ 'Meo Me & You แมวของเขาและรักของเรา' และ 'Beauty Boy ผู้ชายขายสวย'

รวมทั้ง กลุ่มบีอีซี ได้มีการจับมือกับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอลมีเดีย หรือ JKN ในการจัดจำหน่ายละครของกลุ่ม BEC ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยการจัดจำหน่ายของ JKN นั้นจะครอบคลุมไปในตลาดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ไต้หวัน และยังจะขยายไปยังประเทศในตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกาในอนาคต ยกเว้นบางประเทศ ที่กลุ่ม BEC ได้มีการดำเนินการไว้แล้ว เช่น จีน (รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า) เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น 

นอกจากการขายลิขสิทธิ์ละครแล้ว อาจมีการนำศิลปินไปโชว์ตัว จัดอีเวนต์และกิจกรรมอื่นๆ ตามมาในอนาคตอย่างไรก็ตาม จากเม็ดเงินโฆษณาดังที่ได้กล่าวมาส่งผลให้ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลุ่มบีอีซี มีรายได้ 2,756.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.9% จากไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 2,420.50 ล้านบาท แต่ลดลง 14.9% จากไตรมาส 2 ปี 2560 ที่มีรายได้ 3,239.20 ล้านบาท 

สำหรับรายได้จากการขายโฆษณาไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 11.2% แต่ลดลง 11.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งรายได้การขายโฆษณากลุ่มบีอีซียังมาจากขายเวลาโฆษณาช่อง 3 เป็นหลัก 

ขณะที่ รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นในไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 273.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.3% จากไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ 173.6 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 51.3% จากไตรมาสที่ 2/2560 อยู่ที่ 180.5 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจออนไลน์ที่ได้ผ่านแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ของกลุ่ม BEC เช่น CH3Thailand และ Mello รวมถึงแพลตฟอร์มพันธมิตร นอกเหนือจากนี้รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นยังเพิ่มขึ้นจำกการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศ (Global Content Licensing) และการออกอากาศคู่ขนานละคร ลิขิตรัก The Crown Princess ไปประเทศจีน

ขณะที่ รายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและการแสดงในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 69.5 ล้านบาท ลดลง 3.1% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 71.7 ล้านบาท และลดลง 79% จากไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 331.4 ล้านบาท โดยที่กิจกรรมและรับจ้างจัดคอนเสิร์ตในไตรมาสนี้ได้แก่ Katy Perry, Bruno Mars , และ Harry Styles เป็นต้น 

ท้ายสุด 'ประชุม' ทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมีความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น แต่แนวทางขายหุ้นให้กับทุนหนาคงจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของเรา เพราะว่าผมก็รักธุรกิจของครอบครัวผมเหมือนกัน...!! 

โบรกฯ ครึ่งหลังธุรกิจฟื้น

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC รายงานตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561  ขาดทุนสุทธิ 23 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากกำไรสุทธิ 113 ล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2560  แต่ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 126 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่คาดการณ์และตลาดคาดไว้ ส่งผลจากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงถึง 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 11% จากไตรมาสก่อน อยู่ที่ 2,399 ล้านบาท

ส่งผลจากเม็ดเงินโฆษณากลุ่ม Traditional channel ยังคงหดตัว -7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  คาดว่าผลการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 2561 จะเริ่มฟื้นตัว จากรายได้เพิ่มขึ้นจากหลังจากที่รายการของช่องได้รับความนิยมมากขึ้นบนแพลทฟอร์มใหม่ (ออนไลน์) และ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารน่าจะลดลงจากโครงการเกษียณก่อนกำหนดที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2560 

อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิคาดปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง จากเม็ดเงินโฆษณากลุ่ม Traditional channel ฟื้นตัว 7% จากไตรมาสก่อน , Average ad income เพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อน และ Utilization rate เพิ่มขึ้นเป็น 77% จาก 75.6%  

ขณะที่ รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หนุนโดยรายได้ค่าลิขสิทธิ์จากธุรกิจออนไลน์ของ BEC และการออกอากาศคู่ขนานละครเรื่อง ลิขิตรัก ไปที่ประเทศจีนผ่าน Tencent มองว่ารายได้และกำไรสุทธิจะฟื้นตัวในครึ่งปีหลังเป็นต้นไป แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรามองว่ากำไรสุทธิของ BEC จะต้องใช้เวลาในการกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งคงคำแนะนำ 'ถือ' ที่ราคาเป้าหมาย 8.60 บาท