เปิดตัวเลขในตำนาน 'อำลาตลาดสึกิจิ' ตลาดปลาใหญ่ที่สุดของโลก

เปิดตัวเลขในตำนาน 'อำลาตลาดสึกิจิ' ตลาดปลาใหญ่ที่สุดของโลก

วันสุดท้ายของการประมูลทูน่าที่ตลาดปลาสึกิจิ หลังจากเปิดบริการมานาน 83 ปี ตลาดปลาใหญ่ที่สุดของโลก

วันเสาร์ (6 ต.ค.) นี้จะเป็นวันสุดท้ายของการประมูลทูน่าที่ ตลาดปลาสึกิจิ หลังจากเปิดบริการมานาน 83 ปี ตลาดปลาใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ขายอาหารทะเลนานาชนิด ป้อนร้านอาหารทั้งในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ก่อนที่ตลาดจะย้ายไปเปิดในจุดใหม่ห่างจากตลาดเก่าไปทางทิศตะวันออกไม่กี่กิโลเมตรในวันที่ 11 ต.ค. ขอย้อนรำลึกตัวเลขในตำนานที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับตลาดปลาสึกิจิ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย

การย้ายตลาดปลา 5 วัน ค่าใช้จ่ายสูงถึง 600,000,000,000 เยน เทียบเท่ากับ 5,200 ล้านดอลลาร์

การประมูลทูน่าครีบน้ำเงินเมื่อวันปีใหม่ 2556 แพงสุดเป็นประวัติการณ์ 155,400,000 เยน เทียบเท่า 1.8 ล้านดอลลาร์ คิโยชิ คิมูระ ราชาทูน่าญี่ปุ่นเป็นผู้ประมูลปลาขนาด 222 กิโลกรัมตัวนี้ไปได้

ตลาดใหม่ “โตโซยุ” ขนาด 407,000 ตารางเมตร เทียบเท่ากับสนามอเมริกันฟุตบอล 76 สนาม หรือใหญ่เกือบ 2 เท่าของตลาดเดิม
จำนวนผู้คนในตลาดสึกิจิ ทั้งพนักงานและพ่อค้าแม่ค้า 41,964 คน

ทูน่าขนาด 405 กิโลกรัมที่ประมูลได้ในปีนี้ เป็นตัวใหญ่สุดที่เคยประมูลได้ในช่วงปีใหม่ ราคา 36.5 ล้านเยน คาดกันว่า เนื้อของมันนำไปทำซูชิได้ถึง 13,000 ชิ้น

แต่ละวันปลา ผัก ผลไม้ ที่ขายกันในตลาดสึกิจิมากถึง 2,900 ตัน

1_7

เมื่อปี 2558 มีคนทำของหายแล้วหาเจอที่ตลาดปลาสึกิจิ จำนวน 698 ชิ้น สินค้าที่ผู้คนหลงลืมมีทั้งอาหารทะเลจำพวกปลาหมึกสด บ้างก็ลืมปลาทูแขก อาหารทะเลที่ขายในตลาดสึกิจิมีมากถึง 480 ชนิด

หลังปิดตลาดสึกิจิต้องมีปฏิบัติการปราบหนู ซึ่งต้องใช้ยาเบื่อหนูถึง 300 กิโลกรัม พร้อมกับกาวดักหนู 40,000 แผ่น
แต่ละวันตลาดแห่งนี้ต้องใช้น้ำแข็ง 180 ตัน รักษาให้ปลาสดอยู่เสมอ

การประมูลทูน่าที่โด่งดังจำกัดผู้ชมไว้ที่ 120 คน นักท่องเที่ยวต้องมาเข้าคิวตั้งแต่ 2.00 น. เพื่อรอชมไฮไลท์ของตลาดในเวลา 5.30 น . อุณหภูมิในการรักษาทูน่าให้สดเสมออยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส

ลิโอเนล เบกคาต หัวหน้าเชฟวัย 42 ปี จาก “เอสคีซ” ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลินในย่านกินซากลางกรุงโตเกียว ผู้ซื้อปลาในตลาดมาตลอด 12 ปีจนคุ้นเคยกับพ่อค้า ร่วมรำลึกถึงอดีตของตลาดปลาอันโด่งดังแห่งนี้ว่าเรื่องราวของสึกิจิเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของคน “ที่นี่คือโลกในตัวเอง”

ด้าน มาซาตาเกะ อายาเบะ พ่อค้ารายหนึ่งที่เบกคาตไปซื้อปลาอยู่บ่อยๆ เล่าว่า เขาขายปลาในตลาดสึกิจิมานาน 30 ปี และเกรงว่าธุรกิจอาจเสียหายหากย้ายไปตลาดโตโซยุ

“ไม่มีตลาดไหนในโลกอีกแล้วที่จะมีปลามากเท่าที่นี่ และผู้คนก็ให้เกียรติเรามากที่มาซื้อปลาที่สึกิจิ ผมแน่ใจเลยว่า ลูกค้าที่ตลาดใหม่ต้องลดลง”

แม้มีมนต์เสน่ห์แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ตลาดเก่าอายุ 83 ปีไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่อีกต่อไป ทั้งในแง่ความสะอาดและการป้องกันอัคคีภัย

ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว หัวหอกการย้ายตลาดกล่าวว่า ตลาดใหม่บนพื้นที่ที่เคยเป็นโรงงานก๊าซมาก่อน จะใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ช่วยให้บรรยากาศการขายปลาเต็มไปด้วยความทันสมัย ซึ่งเชฟมือเก๋าอย่างเบกคาตยอมรับว่า ถ้ามองในแง่สุขอนามัยก็ใช่ แต่บรรยากาศก็จะต่างออกไป

“การมาตลาดสึกิจิเป็นความเสพติด เช้าไหนไม่ได้มาก็เหมือนขาดอะไรไป”