10 สุดยอดนวัตกรรมไทย เปิดตัวที่อินโนเวชันเอ็กซ์โป

10 สุดยอดนวัตกรรมไทย เปิดตัวที่อินโนเวชันเอ็กซ์โป

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ แสดงศักยภาพและความก้าวหน้าด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในงาน “อินโนเวชัน ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2018″ ระดมโชว์ผลงานระดับสุดยอดของประเทศ ทั้งยุทธภัณฑ์ อากาศยานไร้คนขัน หุ่นยนต์ ทั้งของผู้ประกอบการและเยาวชนนักศึกษา

เริ่มแล้วงานเทศกาลนวัตกรรม “อินโนเวชัน ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2018″ ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคมนี้ ไบเทค จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องในวันนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี พบกับนวัตกรรมระดับประเทศที่มีความหลากหลาย อาทิ โซนนวัตกรรมประเทศไทยพบกับ 70 ผลงานเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น และ 30 ผลงานในโครงการไฮไลท์รอบปีที่ผ่านมา โซนอินโนเวชันอวอร์ดกับ 10 ผลงานนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี โซนอาชีพในศตวรรษที่ 21 โซนองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนำโดย 20 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ และโซนโชว์ผลงานต่างประเทศจาก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อิสราเอลและมาเลเซีย

หนึ่งในไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานทุกเพศวัยคือ กลุ่มเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่พัฒนาโดยพลเรือน ในปีนี้มีชิ้นงานสะดุดตาคือ “สกายดีเฟ้นส์” โดยบริษัท ดิจิตอลรีเสิร์ชแอนด์คอนซัลทิ่ง จำกัด เป็นระบบป้องกันภัยคุกคามจากอากาศยานไร้คนขับแบบรอบทิศทาง 360 องศา พัฒนาต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ตัดสัญญาณคลื่นวิทยุ ทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ระยะตรวจจับด้วยเรดาร์ 2 กิโลเมตร ระยะตรวจจับภาพ 1-3 กิโลเมตร การทำงานประกอบด้วย 4 ระบบหลักคือ ระบบตรวจจับและติดตาม ระบบกล้องตรวจการณ์ ระบบซอฟต์แวร์ควบคุมและระบบตัดสัญญาณ แต่ละระบบทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ถัดมาคือ เรือตรวจการณ์ปืน-เรือหลวงแหลมสิงห์จากบริษัท มาร์ชัน จำกัด เป็นเรือตรวจการณ์ปืนลำแรกและลำเดียวที่ออกแบบและต่อสร้างโดยคนไทยโดยมีภารกิจตรวจการณ์สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกัน การแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย ตลอดจนการถวายความปลอดภัยแก่พระบรมวงศานุกวงศ์และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่างๆ


นอกจากนี้ ผลงานที่ขาดไม่ได้ภายในงานคือ อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งจะมีการมอบรางวัล UAV Startup 2018 จากการจัดประกวดโดยสำนักงานนวัตกรรมฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากโดรน ไม่ว่าจะเป็น การพ่นสารส่งเสริมการเจริญเติบโตของผลไม้แบบมุ่งเป้าเพื่อการส่งออก โดยบริษัทอาร์แอนด์ดี เอ็นไว-อินโนเทค จำกัด ที่ได้พัฒนาระบบให้สามารถพ่นสารได้แม่นยำ เหมาะสมกับไม้ผลแต่ละต้นในแปลงปลูกและปลอดภัยต่อเกษตรกร อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายคิดเป็น 40-50% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน