กพอ.ไฟเขียวเดินหน้าเปิดประมูล 4 โครงการใหญ่ในอีอีซี

กพอ.ไฟเขียวเดินหน้าเปิดประมูล 4 โครงการใหญ่ในอีอีซี

กพอ.ไฟเขียวเดินหน้าเปิดประมูล 4 โครงการใหญ่ในอีอีซีมูลค่ากว่า 4.3 แสนล้าน ทั้งสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือ และเอ็มอาร์โอ เร่งออกทีโออาร์-หนังสือชี้ชวนนักลงทุนในเดือน ต.ค.นี้

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวานนี้ (4 ต.ค.) ว่าที่ประชุมฯเห็นชอบให้มีการเดินหน้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 4 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 432,849 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) โครงการท่าเรือแหลมฉบับงระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 โดย กนศ.จะนำเอารายละเอียดการจัดทำหนังสือชี้ชวนและร่างทีโออาร์เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 1 – 2 สัปดาห์และจะเริ่มมีการเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาซื้อซองและเอกสารการประมูลภายในเดือน ต.ค.นี้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) กล่าวว่าโครงการทั้งหมดที่อนุมัติในครั้งนี้เป็นการลงทุนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และจะมีการเปิดประมูลแบบนานาชาติ โดยในแต่ละโครงการจะคัดเลือกภาคเอกชนโดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับเป็นสำคัญ
ปัจจุบัน กพอ.ได้มีการอนุมัติโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอีอีซีไปแล้วทั้งสิ้น 5 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 รวมวงเงินลงทุน 652,559 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยภาครัฐ 209,916 ล้านบาท (32%) ที่เหลือเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 442,643 ล้านบาท (68%) คาดว่าจะเกิดผลตอบแทนการเงินในโครงการที่มีการลงทุนรวม 559,715 ล้านบาท โดยภาครัฐได้รับ 446,960 ล้านบาท และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศรวม 819,662 ล้านบาท

โดยหากคิดรวมกับมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีอีกประมาณ 9.4 แสนล้านบาท จะทำให้เกิดการลงทุนรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐเพียง 3 แสนล้านบาท หรือเพียง 18% โดยการลงทุนเอกชน 1.4 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 82% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการในรูปแบบพีพีพีทำให้โครงการเกิดขึ้นได้จริงโดยภาครัฐไม่ต้องลงทุนมากแต่ได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในระดับสูง และสร้างงานกว่า 4 หมื่นตำแหน่งต่อปี