การเมืองคึกคัก สนช. ฟิตพิจารณาร่างก.ม.11ฉบับรวด

การเมืองคึกคัก สนช. ฟิตพิจารณาร่างก.ม.11ฉบับรวด

เมื่อสัญญาณการเมืองของ "บิ๊กตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกฯและหัวหน้า คสช. เริ่มชัดเจน หลังจากที่ "พรรคพลังประชารัฐ" พรรคนั่งร้านของ คสช. เปิดตัวอย่างใหญ่โต และส่ง 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล นั่งเป็นหัวเรือใหญ่

 โดยมี "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นว่าที่หัวหน้าพรรค

000 พรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มขยับแต่งตัว เพื่อสู้กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่น่าจับตาความเคลื่อนไหวที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย ที่ล่าสุดกรรมการบริหารพรรค เริ่มขยับตั้งต้นจาก “แก้ไขข้อบังคับพรรค” และ เตรียมประชุมใหญ่สามัญ วันที่ 28 ตุลาคม เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค แม้ก่อนหน้านี้จะชูตัว “คนรุ่นใหม่” เข้าสังกัด แต่คนที่คาดว่าจะถูกวางตัวนำทัพการเมือง ในเวลานี้ คือคนหน้าเก่า “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”

000 เพราะยามนี้การชูใครนำทีมชนกับพรรครัฐบาล ต้องอาศัยแต้มต่อทางสังคม โดยเฉพาะความเป็น “หญิงมั่นทางการเมือง” จากนั้น “เพื่อไทย” ยังวางคิวลงพื้นที่เพื่อรับสมัครสมาชิกพรรค โดยพื้นที่แรก ที่แกนนำจะพาเหรดลง คือ “จ.เชียงใหม่” ฐานที่มั่นเดิม ต่อด้วย “จ.อุดรธานี, จ.อุบลราชธานี”

000 ขณะที่ “พรรคภูมิใจไทย” ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่เป็นต่อ หลังจากที่มีอดีตส.ส.และคนดังทางการเมืองพาเหรดเข้าสังกัด โดยพรรคนี้จะนัดประชุมวันที่ 12 ตุลาคม เพื่อประกาศนโยบายที่จะใช้สู้ศึกเลือกตั้ง

000 วกกลับมาที่ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” ที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นแกนนำ ขณะนี้เจ้าตัวจะไม่ประกาศชัดว่าจะเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่โดยทางพฤตินัยที่ “อนุชา นาคาศัย” สมาชิกกลุ่มสามมิตรเป็นว่าที่กรรมการบริหารพรรค จึงหนีไม่พ้นว่าจะ ย้ายเข้ารังนี้แน่นอน แม้ตอนนี้มีข่าวว่า “พรรคอื่นส่งเทียบเชิญ” แต่เมื่อดูหัวแกนนำกลุ่ม ทั้ง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ - สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ-สมศักดิ์” จึงมองไปทางอื่นไม่ได้

000 สำหรับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สัปดาห์นี้ ตามดูจากวาระการประชุม พบว่า สัปดาห์นี้ สนช. ต้องทำงานหนัก เพราะต้องพิจารณา ร่างกฎหมายที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งมาให้รับวาระ ทั้งสิ้น 11 ฉบับ แบ่งเป็นกลุ่มร่างกฎหมายว่าด้วยท้องถิ่น และเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ, กลุ่มร่างกฎหมายว่าด้วยข้าราชการ ทั้ง ข้าราชการพลเรือน, รัฐสภา, ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, ข้าราชการสถาบันอุดมศึกษา 5 ฉบับ และ ร่างกฎหมายตำรวจ

000 โดยทั้ง 11 ฉบับนั้น เชื่อว่าเพียงวันเดียว “สนช.” จะยกมือรับหลักการ และตั้ง กรรมาธิการพิจารณาตามกระบวนการ นอกจากนั้นยังมี ร่างกฎหมายที่ค้างพิจารณาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว คือ “ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ” ที่สนช. พิจารณาวาระ2ไปแล้ว แต่ยังไม่โหวต

000 เพราะ ที่ประชุมรุมซักปมคลุมเครือในร่างกฎหมายที่วางกติกาไม่ชัด ว่าด้วยการให้อำนาจรัฐ ควบคุมการใช้น้ำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและเอกชน แต่ในการพิจารณาวันที่ 4 ตุลาคมนั้น เชื่อว่า กรรมาธิการฯ จะแก้ปัญหาและสามารถลงมติให้ผ่านได้ในที่สุด...