“สามมิตร”ยื้อร่วมพปชร. เปิดเกมต่อรองท่อน้ำเลี้ยง-เก้าอี้รมต.

“สามมิตร”ยื้อร่วมพปชร.  เปิดเกมต่อรองท่อน้ำเลี้ยง-เก้าอี้รมต.

ข่าวคราว “กลุ่มสามมิตร” เริ่มคิดการใหญ่ แยกตัวเองออกไปตั้งพรรค หรือเทคโอเวอร์พรรคในเครือข่าย มีมาก่อนที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเลือก "อุตตม สาวนายน" รมว.อุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าพรรค

“สามมิตร” ที่นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เดินเกมปั่นป่วน พปชร. มาสักระยะ ขยักแรกงอแงจะไม่ส่งทีมงานร่วมนั่งคณะกรรมการบริหารพรรค จนทำให้นักหมายการประชุม พปชร. วันที่ 15 ก.ย. ต้องเลื่อนออกไปเป็น 29 ก.ย. ก่อนจะยอมเคาะสัดส่วนกรรมการบริหารกันได้

หากจำกันได้ ชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรค พปชร. ยังเคยออกมายอมรับว่า “สามมิตร” อาจจะไม่เข้าร่วม พปชร. ก็ได้ เพราะมีจุดยืนของกลุ่มเอง แถม “สามมิตร” ยังไม่เคยพูดว่าจะเข้าร่วมกับพรรคไหนชัด เพียงแค่สนับสนัน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศต่อไป

เมื่อ พปชร. เริ่มเป็นรูปร่าง มีคณะกรรมาการบริหารพรรค แต่ยังไร้เงาบรรดา อดีต ส.ส. ที่ดีลกันมา สามมิตรใช้โอกาสนี้ต่อรองครั้งสุดท้าย ขู่ทางลับจะตั้งพรรคเอง แต่เจอ "สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" รมว.พาณิชย์ เลขาธิการ พปชร. เอามาไขในที่แจ้ง

เมื่อเขี้ยวการเมืองแบบ “สามมิตร” เจออนุบาลการเมือง แต่มีที่ปรึกษาทางใจระดับอ๋อง “สนธิรัตน์” โต้กลับแบบไม่เกรงอกเกรงใจ มองเหลี่ยมถือไพ่เหนือกว่า ส่วน “สามมิตร” หากไร้เงา “บิ๊กรัฐบาล-พปชร.” ชั่วโมงนี้คงยากที่จะหาพรรคการเมืองสังกัด จะตั้งพรรคเองก็ไร้จุดขาย

ข่าวปล่อย สามมิตรไม่ร่วมวงกับ พปชร. มักจะออกมาจากฝั่งของ สามมิตรเอง ที่พูดคุยทางลับกับ ตัวจริง พปชร.ไม่ใช่ลิเกหน้าฉาก แต่วงต่อรองเคาะกันไม่ลงสักที จนบรรดา อดีต ส.ส. ที่ไปเดินสายดูดมาทวงสัญญา “ค่าใช้จ่าย” ที่การันตีกันเอาไว้ 

ฝากฝั่ง “สามมิตร” ก็ร้อนรนจะควักทุนสำรองจ่ายไปก่อน ก็เกรงว่าจะได้ไม่คุ้มเสีย โยงกันถึง บิ๊ก ป.ท่อตัน ให้สัญญากันไว้ว่าจะดูแลเดือนหลัก 6 หลัก หากอดีต ส.ส.คนใดโอเคเซย์เยส มาอยู่ด้วย แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงสัญญาลมปาก

ทำให้บรรดาอดีต ส.ส.ค่ายแดง ที่ดูดมาแล้ว-เปิดตัวไปแล้ว ชักจะลังเล ขอกลับพรรคเพื่อไทย (พท.) ต่อสายแกนนำ แต่ถูกปฏิเสธ เพราะพท.ไม่คิดรับคนทรยศกลับพรรค จึงต้องยอมกล้ำกลืนอยู่ร่วมกับ สามมิตรโดยไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ว่ากันว่า ที่ “สมศักดิ์-สุริยะ” เดินสายทาบกลุ่มการเมือง-อดีตส.ส.ให้เข้าร่วมกลุ่มสามมิตร ควักเนื้อเฉือนทุนตัวเองออกไปก่อนเกือบทั้งหมด หวังทุ่มสุดตัวเพื่อโกยกลับทีหลัง

มาชั่วโมงนี้ “สมศักดิ์” เริ่มรำลึกบทเรียน เมื่อช่วงตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในช่วงปี 2550 เคยทาบทามเพื่อนรักนาม สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาทางใจพรรค พปชร. ให้ร่วมช่วยกันทำงานกับพรรคมัชฌิมาฯ โดย “สมคิด” ตกปากรับคำอย่างดี แต่สุดท้าย "ไม่มาตามนัด" หายเข้ากลีบเมฆ แม้ “สมศักดิ์” จะต่อสายโทรหาหลายครั้ง แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับ เนื่องจาก “สมคิด” หนีไปเที่ยวต่างประเทศแบบไม่บอกกล่าวกันก่อน ทำเอา “สมศักดิ์” ผิดหวังอย่างหนัก

ภาพอดีตวนเวียนมาให้ “สมศักดิ์” ต้องทบทวนสายสัมพันธ์กับ “สมคิด” หากจะดีลการเมือง ต้องเด็ดขาดตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่เช่นนั้นอาจซ้ำรอยอดีต

ขณะนี้ยังพอมีเวลาให้ สมศักดิ์-สุริยะเล่นเกมต่อรอง ระหว่างที่การจัดตั้งพรรค พปชร.ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง ทีมงานสามมิตรเองก็ยังไม่สามารถสมัครเข้าสังกัดได้ ขณะที่ "อุตตม"จะยื่นเอกสารขอรับรองการจัดตั้งพรรคในวันที่ 4 ต.ค.นี้

หลังจากนั้นการรับรองพรรค พปชร. จะอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการบริหารพรรค 30 วัน และ กกต.ตรวจสอบอีก 15 วัน รวม 45 วัน หรืออาจใช้เวลากว่านั้น

คาดว่า กกต.จะรับรองพรรค พปชร. ก่อนวันที่ 25 พ.ย. เพราะหากรับรองหลังจากนั้น สมาชิกพรรค พปชร. จะหมดสิทธิลงสมัครรับการเลือกตั้ง เพราะผิดเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุคุณสมบัติผู้ลงสมัครรับการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ก่อนวันเลือกตั้งอย่างน้อย 90 วัน

เดดไลน์ที่ “สามมิตร” ต้องชัดเจนว่า สังกัดพรรคใดกันแน่ หากเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.2562 จะต้องพาสมาชิก กลุ่มยื่นใบสมัครเข้าพรรคการเมืองภายในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ไม่เช่นนั้น “สามมิตร” จะไม่สามารถส่งเด็กในคาถาลงสมัครในศึกการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ได้ 

เกมต่อรองที่ต่างฝ่ายต่างบลัฟใส่กัน จึงต้องเคาะให้จบก่อน 25 พ.ย.ใส่กัน จึงต้องเคาะให้จบก่อน 25 พ.ย.

เมื่อดีล สามมิตรติดกั๊ก สะเทือนไปถึง "ตระกูลสะสมทรัพย์" ที่ตกลงกันว่า จะไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ตามยุทธศาสตร์แยกสีเทา-สีขาวออกจากกัน เดิมที่ ภท.จะเปิดตัวตระกูลสะสมทรัพย์ หลังประชุมเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา 

เมื่อทุกอย่างยังไม่ลงล็อค จึงต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะหาก “สามมิตร” คิดการใหญ่แข็งข้อตั้งพรรคเองจริง และยังส่งผลต่อตระกูลสะสมทรัพย์่ ที่อาจเจอไฟต์บังคับต้องสวมเสื้อเข้าสังกัด พปชร. ซึ่งกลุ่มนี้ก็อวดราคาด้วย "5 ที่นั่ง" ยกจังหวัดนครปฐม

งานนี้หากเคลียร์ไม่จบ-ตกลงกันไม่ได้ ฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเข้ามานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งจะยากขึ้นอีก เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า พรรคที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้รัฐสภาโหวตได้ ต้องมีเสียงในสภาฯ อย่างน้อย 25 เสียง

หากไม่มี สามมิตรพรรค พปชร.ก็ยากพอตัว ที่จะได้ถึง 25 เสียง เพื่อเสนอโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น สามมิตร-พปชร.” จึงยากที่จะแยกกันเดิน 

เวลานี้ จึงต้องคลายปม "เกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรี-ปล่อยท่อน้ำเลี้ยง" ให้ไหลบ้าง เพื่อหล่อเลี้ยงอดีต ส.ส.ที่ดูดเข้ามาในพรรค 

มาถึงจุดนี้ "พปชร.-สามมิตร" ก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า จะดีไม่ดี ก็ต้องเข็นกันไปให้ถึงฝั่ง