อย.ลุยจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย กว่า 30 ล้านบาท

อย.ลุยจับผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย กว่า 30 ล้านบาท

บิ๊กล็อต! อย.ร่วมกับ บก.ปคบ. กวาดล้างแหล่งผลิตและจําหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมาย ย่านปทุมธานี อยุธยา ลาดพร้าว และดอนเมือง ลักลอบใส่สารไซบูทรามีน ยึดของกลางกว่า 30 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และเภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร ร่วมกับ ตํารวจ บก.ปคบ. กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง นําทีมโดย พ.ต.อ.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ รอง ผบก.ป.รรท.ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ. ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.4 บก. ปคบ. ร่วมกันแถลงข่าว จับแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 4 แห่ง ย่านปทุมธานี อยุธยา ลาดพร้าว และดอนเมือง ตรวจพบผลิตภัณฑ์กาแฟปรุงสำเร็จรูปชนิดผง อวดอ้างลดน้ำหนัก ใส่สารไซบูทรามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ผิดกฎหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการกวาดล้างผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่จำหน่ายตามท้องตลาด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัยได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่ง อย. รุดสนองนโยบายดังกล่าว โดยได้ร่วมมือกับตำรวจ บก.ปคบ. ในการตรวจจับแหล่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์จากสถานที่จำหน่ายของ อย. พบว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง สำหรับลดน้ำหนัก LIKE SLIM COFFEE ระบุผู้ผลิต UNOZAWA (KOREA) รุ่นการผลิต 04/12/2017 หมดอายุ 04/12/2019 ตรวจพบยาแผนปัจจุบันไซบูทรามีน ประกอบกับจากการสืบค้นข้อมูลระบบแจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์ฐานข้อมูลคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ www.tumdee.org แจ้งรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ข้างต้น รุ่นการผลิต 12/07/2017 หมดอายุ 12/07/2019 ตรวจพบยาแผนปัจจุบันไซบูทรามีนเช่นกัน

นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์จากสถานที่จำหน่ายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ พบว่า ผลิตภัณฑ์ TABONGPET Coffee ระบุผู้ผลิต UNOZAWA(KOREA) นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย PK Nature product Co.Ltd (Thailand) ผลิต 02/05/2018 หมดอายุ 02/05/2020 ตรวจพบยาแผนปัจจุบันไซบูทรามีนด้วย จากการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เบื้องต้น พบว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีการแสดงเลขสารบบอาหารปลอม และแสดงข้อความกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ของอาหาร เป็นต้น

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณ และสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิดจนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิตผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลมาหลายครั้ง เพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ เสียเงินเสียทอง ได้รับอันตรายจากการใช้ ประกอบกับ อย. ได้ยกระดับไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 แล้ว ดังนั้น อย. ได้ประสานไปยังตำรวจ บก.ปคบ. ในการสืบหาแหล่งผลิตและจำหน่าย จนพบแหล่งเป้าหมายและได้เข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย

(1.) บริษัท พิมเพ็ญ เฮลท์แคร์ อินเตอร์ จำกัด จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตรายใหญ่ พบผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายจำนวนมหาศาล โดยภายในสถานที่ได้แบ่งกั้นห้องสำหรับผลิตเป็นสัดส่วน พบอุปกรณ์การผลิต วัตถุดิบ กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และพบของกลางผลิตภัณฑ์กาแฟ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายหลายรายการจำนวนมาก ได้แก่ 1. กาแฟไอดอล สลิม คอฟฟี่ แสดงสรรพคุณลดน้ำหนัก แสดงเลขสารบบอาหารและชื่อผู้ผลิตของบุคคลอื่น (2.) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก slim lesterol oristat แสดงชื่อที่ตั้งผู้นำเข้าเป็นของบุคคลอื่น (3.) ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพสำหรับท่านชายชนิดชงดื่ม แสดงชื่อผู้ผลิตของบุคคลอื่นและแสดงสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ อีกทั้งยังพบฉลากผลิตภัณฑ์ยาที่มี ไซบูทรามีน Reduce-15mg จำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้อายัดไว้เป็นของกลางทั้งหมด จำนวน 69 รายการ และเก็บตัวอย่างอาหารส่งตรวจวิเคราะห์หายาแผนปัจจุบันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ จากการตรวจสถานที่ผลิต พบว่า ไม่ผ่าน จีเอ็มพี ตามเกณฑ์ที่กฎหมายบังคับใช้ด้วย

(2.) บ้านเลขที่ 19/46 ต.คานหาม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา (แหล่งจำหน่าย) ตรวจพบผลิตภัณฑ์กาแฟ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และพบอาหารปลอม จำนวน 7 รายการ ได้แก่ 1. Tabongpet จำนวน 222 กล่อง 2. Like slim yogurt by idol จำนวน 9 กล่อง 3. Hipo slim detox gold จำนวน 336 กล่อง 4. Like slim coffee 5. Sliming diet raspberry plus 6. Black gold slim 7. Like slim apple by idol จำนวน 1,202 กล่อง

(3.) บ้านเลขที่ 105 ซอย 96 ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา กรุงเทพฯ (แหล่งจำหน่าย) ตรวจพบผลิตอาหาร จำนวน 4 รายการ ที่มีไว้เพื่อจำหน่าย ได้แก่ 1.เครื่องดื่มแอปเปิ้ลชนิดผงสำหรับลดน้ำหนัก Idol slim apple 2.กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง สำหรับลดน้ำหนัก Tabongpet coffee 3.Hippo Slim Detox 4.กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง สำหรับลดน้ำหนัก BK size coffee อย. ซึ่งทั้ง 4 รายการ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายอาหารปลอมแสดงฉลากเพื่อลวง โดยผู้จำหน่ายแจ้งว่า สั่งซื้อทาง IG #Pk nature และจัดจำหน่ายทางเพจ fb PK nature product co.,Ltd (thailand)

(4.) ร้านเจ๊พร ล็อค 1-4 ถ.เชิดวุฒากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ (แหล่งจำหน่าย) จากการตรวจสอบทั้ง 4 ล็อค มีเพียง 1 ล็อค ที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ อีก 3 ล็อค เป็นห้องว่าง คือ ร้านลานน้ำหอม เลขที่ 199/99 ซอยเชิด วุฒากาศ 9 ถ.เชิดวุฒากาศ แขวงดอนเมือง เขตดอนเมือง กทม. ไม่พบผลิตภัณฑ์ Tabongpet และ like slim coffeeแต่พบผลิตภัณฑ์ idol slim coffee ซึ่งฉลากระบุผู้ผลิตคือ Unozawa company(korea) นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย PK nature product co.,ltd (thailand) เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูล อย. พบว่า เป็นของผู้ผลิตรายอื่น และฉลากอวดอ้างสรรพคุณประโยชน์ เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท และสjงผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป

สำหรับการดำเนินคดี ในเบื้องต้นพบการกระทำความผิด (1.) จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท, (2.) จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจาก แสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท, (3.) กรณีผลิตภัณฑ์อาหารตรวจพบสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ เข้าข่ายจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, (4.) หากผลการตรวจวิเคราะห์ พบสารไซบูทรามีน ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 ผู้ผลิต หรือนำเข้า จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 – 2,000,000 บาท ผู้ขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท รวมถึงการครอบครองหรือบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นการกระทำผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ กล่าวว่า อย. ขอเตือนมายังผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ และยิ่งหากตรวจพบนำสารไซบูทรามีนมาผสมในผลิตภัณฑ์จะถูกดำเนินคดีขั้นรุนแรง เนื่องจากจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1 อย. ประกาศบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ส่วนผู้บริโภค ขอให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟ อย่าได้หลงคารมผู้ขายว่าเป็นกาแฟที่สามารถลดความอ้วนได้ เพราะกาแฟที่อวดสรรพคุณเหล่านี้ มักตรวจพบ ใส่ยาลดความอ้วนไซบูทรามีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบริโภค เนื่องจากยาดังกล่าว มีผลข้างเคียงสูง ต้องใช้โดยความดูแลของแพทย์ โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา

ส่วนผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น หากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่จำเป็นต้องเสี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ ควรควบคุมการบริโภคอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน

หากผู้บริโภคพบเบาะแสการโฆษณา การผลิต/ จําหน่าย ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณ โดยเฉพาะอ้างลดความอ้วน ขอให้แจ้งมาได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application หรือสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สายด่วน บก.ปคบ 1135 เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป