องค์กรไทยตื่นลงทุนไอที ปรับโฉมธุรกิจรับศึกดิจิทัล

องค์กรไทยตื่นลงทุนไอที ปรับโฉมธุรกิจรับศึกดิจิทัล

ธุรกิจในไทย 69% ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยเร่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

ผลสำรวจ "ดัชนีชี้วัดการปฏิรูปสู่ดิจิทัล(Digital Transformation Index ; DT Index)" โดย “เดลล์ เทคโนโลยีส์” ร่วมกับ “อินเทล” รายงานว่า มีธุรกิจในประเทศไทยเพียง 7% ที่เป็น ผู้นำทางด้านดิจิทัล(Digital Leaders) โดยมีการปฏิรูปในหลากหลายรูปแบบ และถูกปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของธุรกิจ

ขณะที่ ผู้ที่เริ่มก้าวสู่ดิจิทัล(Digital Adopters) มีอยู่ 40% บริษัทเหล่านี้เริ่มจัดทำแผนงานด้านดิจิทัลที่เป็นจริงเป็นจัง มีการลงทุนและมีนวัตกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนไปสู่การปฏิรูปองค์กร (transformation) “ผู้ที่กำลังประเมินดิจิทัล(Digital Evaluators)” 25% โดยตอบรับการปฏิรูปสู่ดิจิทัลอย่างระมัดระวัง ค่อยเป็นค่อยไป มีการวางแผนและลงทุนสำหรับอนาคต

ผู้ตามในเรื่องดิจิทัล (Digital Followers) มี 23% เริ่มลงทุนด้านดิจิทัลน้อยมาก เพิ่งเริ่มต้นวางแผนคร่าวๆ สำหรับอนาคต ผู้ที่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลังดิจิทัล(Digital Laggards) 5% ไม่มีแผนงานด้านดิจิทัล มีการลงทุนและความริเริ่มที่จำกัดในองค์กร

นพดล ปัญญาธิปัตย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ อีเอ็มซี ประเทศไทย เผยว่า จากการสำรวจพบว่าเกือบ 1 ใน 4 ของบริษัทยังอยู่ใน 2 กลุ่มหลัง ซึ่งหมายความว่าบริษัทเหล่านี้ กำลังก้าวไปอย่างช้าๆ หรือไม่ก็ยังไม่มีแผนงานด้านดิจิทัลเลย

ผลการสำรวจชี้ว่า 71% ของธุรกิจในไทย เชื่อว่าจะต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้าให้ได้ภายใน 5 ปี มีถึง 33% หวั่นเกรงว่าตนจะถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง

กังวลความปลอดภัยบนไซเบอร์

บรรดาผู้นำธุรกิจมีมุมมองว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(Digital Privacy) และการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์(Cyber security) คืออุปสรรคใหญ่ที่สุดที่กีดขวางการปฏิรูปสู่ดิจิทัล

ปัจจุบัน 96% ของธุรกิจในไทยกำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญที่กีดขวางการปฏิรูปสู่ดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ 2.วัฒนธรรมด้านดิจิทัลที่ยังไม่แข็งแรงพอ ขาดความสอดคล้อง การประสานความร่วมมือภายใน 3.ขาดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกัน 4.ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำงานให้ทันต่อธุรกิจ และ 5.ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร

“อุปสรรคเหล่านี้ เป็นปัจจัยขัดขวางความพยายามในการปฏิรูปสู่ดิจิทัล เช่น 90% ของผู้นำธุรกิจในไทยเชื่อว่าการปฏิรูปสู่ดิจิทัลควรแพร่หลายและครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรได้มากกว่านี้ ขณะที่ 61% เห็นพ้องว่าองค์กรตนควรจะปฏิรูปเองมากกว่ารอให้ถูกปฏิรูปภายใน 5 ปี”

พร้อมกันนี้ องค์กรธุรกิจกำลังเดินหน้าเพื่อที่จะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับการคุกคามในการที่จะถูกเอาชนะจากผู้เล่นที่ไวกว่าและมีนวัตกรรมเหนือกว่า

เตรียมลงทุนไอทีเสริมแกร่ง

ธุรกิจในไทย 69% ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อช่วยเร่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ 68% สร้างระบบรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไว้ในทุกอุปกรณ์ แอพพลิเคชั่น และอัลกอริธึม 65% กำลังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาทักษะรวมถึงความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมในองค์กร เช่น การสอนให้พนักงานเรียนรู้วิธีการเขียนโค้ด 52% แบ่งปันความรู้ในทุกฟังก์ชั่นงาน ด้วยการเตรียมพร้อมให้ผู้นำด้านไอที มีทักษะทางธุรกิจ และให้ผู้นำธุรกิจมีทักษะไอทีควบคู่กันไป

“บริษัทต่างๆ กำลังหันมาหาเทคโนโลยีเกิดใหม่และระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการปฏิรูป”

สำหรับแผนการลงทุนที่วางไว้ภายใน 1 ถึง 3 ปีข้างหน้า 73% ตั้งใจที่จะลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ 63% ตั้งใจว่าจะลงทุนด้านมัลติคลาวด์ 61% ตั้งใจลงทุนด้านการออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใช้แนวทางมุ่งเน้นที่การประมวลผลเป็นหลัก รวมถึงศักยภาพและการดำเนินการที่เหมาะสมและคุ้มค่าในเรื่องของเวิร์กโหลด 56% จะลงทุนเรื่องปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) และ 55% จะลงทุนในเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจจำนวนมากกำลังวางแผนกระทั่งว่า จะทดลองใช้เทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มเกิด โดย 55% กำลังจะลงทุนด้านบล็อกเชน 44% จะลงทุนในระบบที่มีกระบวนการรับรู้ได้เอง(ค็อกนิทีฟ ซิสเต็มส์) และ 40% จะลงทุนวีอาร์และเออาร์

“นับเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับธุรกิจ ถึงจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่เทคโนโลยีและธุรกิจ รวมถึงมนุษยชาติมาร่วมกันสร้างโลกที่เชื่อมต่อมากยิ่งขึ้น มีคุณภาพยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม องค์กรที่วางเทคโนโลยีไว้เป็นศูนย์กลาง จะได้รับคุณประโยชน์จากโมเดลธุรกิจดิจิทัล รวมถึงความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการทุกสิ่งได้ในแบบอัตโนมัติและทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้มากยิ่งขึ้น