พัฒนาแอปฯ 'เซียน แดรี่ฟาร์ม' หนุนเกษตรกรยุค 4.0 เพิ่มการผลิตน้ำนมโค

พัฒนาแอปฯ 'เซียน แดรี่ฟาร์ม' หนุนเกษตรกรยุค 4.0 เพิ่มการผลิตน้ำนมโค

นักวิจัย มหา'ลัยมหาสารคาม พัฒนาแอปพลิเคชัน "เซียน แดรี่ฟาร์ม" ส่งต่อให้เกษตรกรยุค 4.0 เพิ่มการผลิตน้ำนมโค

ความร่วมมือสร้าง "แอปพลิเคชัน เซียน แดรี่ฟาร์ม" เทคโนโลยีสู่การปฏิบัติในฟาร์มโคนม ผลงานวิจัยของ 2 อาจารย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มนกานต์ อินทรกำแหง จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ และอาจารย์ ดร.ฉัตรตระกูล สมบัติธีระ จากคณะวิทยาการสารสนเทศ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์  ศรีวิไล รองอธิการบดีฝ่ายแผนและกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีลงนาม พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ วานนี้ (2 ตุลาคม 2561) เวลา 09.30 น. ที่ห้องฉายภาพยนตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

4_54

โดยในวันนี้ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มนกานต์ อินทรกำแหง คณะสัตวแพทยศาสตร์ , อาจารย์ ดร.ฉัตรตระกูล สมบัติธีระ คณะวิทยาการสารสนเทศ , ตัวแทนจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด, และตัวแทนจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมมหาสารคาม จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือ แอปพลิเคชัน "เซียน แดรี่ฟาร์ม" เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันของนักวิจัยและหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย และเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ  โดยมุ่งให้เกษตรกรทั่วประเทศได้มีการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.มนกานต์ อินทรกำแหง ได้กล่าวถึงความเป็นมา พร้อมสาธิตและแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน"เซียน แดรี่ฟาร์ม" แก่เกษตรกรสมาชิกที่มาร่วมงาน ของแอปพลิเคชันภายใต้โครงการ "สารสนเทศเพื่อการจัดการฟาร์มโคนมของเกษตรกรยุค 4.0" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.) ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยในอุตสาหกรรม และบริษัท ซินเทลลิเจนท์  จำกัด เป็นแอปพลิเคชันหนึ่งในจำนวน หกแอปพลิเคชันที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนม  โดย "เซียน แดรี่ฟาร์ม" สามารถบันทึกข้อมูลประวัติโค การผสมพันธุ์ การพักรีดนม การคลอด การคัดทิ้งโค บันทึกน้ำหนักโค บันทึกปริมาณน้ำนม ระบุพิกัดฟาร์ม  การทำบัญชีฟาร์ม  การแจ้งสัตว์ป่วยแก่สัตวแพทย์  บันทึกประวัติการรักษาและการให้ยาของสัตวแพทย์ตามเกณฑ์มาตรฐานฟาร์ม 

3_66

ซึ่งกำลังพัฒนา  "เซียน โค – ออป" สำหรับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่ต้องการสรุปผลการผลิตน้ำนมของเกษตรกรสมาชิก  คาดการณ์ปริมาณน้ำนมเพื่อไม่ให้น้ำนมล้นตลาด  ตลอดจนสรุปข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่งให้หน่วยงานราชการต่างๆ นอกจากนี้ยังพัฒนา "เซียน อีมาร์เก็ต"สำหรับเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  มีระบบการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์  และยังเป็นช่องทางที่ผู้ขายสินค้าเกษตรได้ให้รายละเอียดแสดงแหล่งที่มาของผลผลิต  ผลการตรวจคุณภาพ สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม   อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีระบุตำแหน่งปัจจุบัน (GPS) ของรถขนส่ง  ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสามารถทราบเวลาที่แน่นอนในการตรวจรับสินค้า  และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้  โดยขณะนี้ แอปพลิเคชั่น "เซียน แดรี่ฟาร์ม" ได้เปิดให้ใช้งานฟรีทั่วประเทศตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม  มีเกษตรกรผู้ใช้งานมากกว่า 400 รายทั่วประเทศ และคาดว่าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นายธารารัตน์ ร่มแก้ว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จ.มหาสารคาม เล่าว่า "ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พบบ่อยก่อนที่จะมาทดลองใช้ แอปพลิเคชัน "เซียน แดรี่ฟาร์ม"" นั้น คือการจัดเก็บข้อมูลไม่เป็นระบบ เพราะบันทึกข้อมูลโดยการเขียนใส่สมุด กระดาษ ทำให้ลืมเขียนบ้าง การบันทึกไม่สม่ำเสมอ บางทีถึงเวลาหมอผสมวัวแล้วตัวเองไม่อยู่ หรือไปถึงแล้ว วัวก็คลอดแล้ว ทำให้เสียโอกาส กระทบไปหลายๆ เรื่อง แต่หลังจากใช้ระบบแอพพลิเคชั่นนี้แล้ว ปัญหาเหล่านั้นก็หมดไป เมื่อคุ้นเคยการใช้ระบบที่สะดวก ทันสมัย  เพิ่มศักยภาพบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ  สามารถควบคุมคุณภาพน้ำนมได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือทำให้มีรายได้จากอาชีพการเลี้ยงโคนมที่ยั่งยืน  และทันสมัยเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด  ถือว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์กับเกษตรกรยุคนี้ได้เป็นอย่างดี"

5_41

ระบบสารสนเทศในฟาร์มโคนมนี้  เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นตามแนวทาง 3R ทำให้ได้ข้อมูลฟาร์มที่ถูกต้องเป็นจริง (Real true) มีการอัพเดทข้อมูลตลอดเวลาจากเกษตรกรผู้ใช้งาน (Real  time) ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Real  tell ) ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่ต้องการบันทึกและเข้าถึงข้อมูล  โดยยังสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์และเจ้าหน้าที่รัฐ  สามารถนำข้อมูลไปวางแผนหรือวางนโยบายสำหรับพัฒนาการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยต่อไป