มรดก..เป็นเรื่องไกลตัวจริงหรือ?

มรดก..เป็นเรื่องไกลตัวจริงหรือ?

ลาวัณย์ วาริชนันท์ CFP® นักวางแผนการเงิน บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต

เมื่อพูดถึง “มรดก” หลายคนคงส่ายหัว และคิดว่าคงไม่เกี่ยวกับเรา นั่นเป็นเรื่องของคนรวย หรืออาจมองว่าเรื่องนี้ยังอีกนาน เป็นเรื่องไกลตัว .. หากคุณคิดเช่นนั้น ขอให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะความจริงแล้ว “มรดก” นั้นเกี่ยวข้องกับคุณและทุกๆ คนที่เกิดมาโดยตรง

เริ่มกันที่ มรดก = ทรัพย์สิน + หนี้สิน จะเห็นว่า หนี้สินก็เป็นมรดก

สมมุติว่า ผู้ชาย 1 คน อายุ 40 ปี มีภรรยา (สมรสจดทะเบียน) 1 คน มีบุตร 2 คน บิดาและมารดาของผู้ชายคนนี้ยังมีชีวิตอยู่ เขามีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ 1,000,000 บาท มีหนี้กับ นาย ก. อยู่ 200,000 บาท ต่อมาวันหนึ่ง ชายคนนี้เกิดจากโลกนี้ไปอย่างกะทันหัน โดยที่เขามิได้ทำพินัยกรรมใดๆ ไว้ก่อน ทรัพย์สมบัติของเขาหรือเงินของเขาจะถูกนำมาชำระหนี้สินให้เรียบร้อยก่อน จากนั้น จึงนำเงินส่วนที่เหลือ 800,000 บาท มาแบ่งส่วนดังนี้

2_6

การแบ่งลักษณะนี้ เรียกว่า การแบ่งมรดกสู่ทายาทโดยธรรม ไม่ว่าการแบ่งนี้จะตรงตามความต้องการของคุณผู้ชายหรือไม่ กองมรดกก็จะถูกจัดสรรแบ่งสู่ทายาทโดยธรรมดังภาพ

ทายาทโดยธรรมแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทายาทโดยธรรมประเภทญาติ ซึ่งมี 6 ลำดับ อันได้แก่ (1) ผู้สืบสันดานหรือบุตร (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา และ ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส ซึ่งก็คือ สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรสนั่นเอง หากไม่จดทะเบียนสมรส มรดกของตัวอย่างข้างต้น จะกลายเป็นดังนี้

3_3

เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินของคุณจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่คุณต้องการมอบให้ จึงควรจัดทำ “พินัยกรรม”  โดยพินัยกรรมจัดเป็นสิ่งที่ใช้แบ่งและกระจายทรัพย์สินของคุณแม้ว่าเราจะจากไปแล้วก็ตาม และช่วยป้องกันความขัดแย้ง

                การทำพินัยกรรมสามารถทำได้หลายแบบ แต่ในแบบที่ง่ายที่สุด ก็คือ การเขียนด้วยลายมือของเราลงบนกระดาษ ระบุข้อมูลส่วนตัวของเรา เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ จากนั้นเขียนรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่างๆ ให้ละเอียด ระบุรายชื่อผู้รับมรดก ผู้จัดการมรดก จำนวนทรัพย์สินที่ต้องการมอบให้แต่ละคน แล้วลงลายมือชื่อพร้อมวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม เท่านี้ก็เรียบร้อย และควรมีพยานลงชื่อด้วยอีก 2 คน เพื่อยืนยันว่าพินัยกรรมนี้ถูกเขียนขึ้นโดยเราจริงๆ ซึ่งพยานต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือ เป็นผู้ได้รับมรดก

                นอกจากนี้ การทำประกันชีวิต ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการส่งต่อมรดกตามเป้าประสงค์ของผู้ขอเอาประกันได้ เมื่อเราทำประกันชีวิตจะมีการให้ระบุผู้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์อยู่แล้ว ซึ่งหากผู้ขอเอาประกันจากไป ทางบริษัทประกัน ก็จะส่งมอบจำนวนเงินเอาประกันดังกล่าวให้กับผู้รับผลประโยชน์โดยตรง ทำให้ในปัจจุบันมีความแพร่หลายในการใช้ประกันชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อมรดกมากขึ้น 

                การวางแผนมรดกที่ดีนั้น เริ่มต้นจากการรู้จักสถานะทางการเงินของตนเอง ทั้งในเรื่อง ทรัพย์สิน หนี้สิน การทำบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอย่างละเอียด เรียนรู้ข้อกฎหมายของภาษีมรดกและภาษีการให้ การทำพินัยกรรม รวมถึงการทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีมรดกและภาษีการให้เป็นทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่น ประกันชีวิต เป็นต้น

                ทั้งหมดของการวางแผนมรดกนั้น ก็เพื่อให้คุณได้ส่งมอบความรักและทรัพย์สินของเรา สู่บุคคลอันเป็นที่รักได้ตรงตามเป้าประสงค์ และเพื่อให้เรามีความสงบสุขทางใจทั้งในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังคงเป็นที่รักเสมอของคนที่คุณรัก เมื่อคุณจากไปแล้ว