วิจัยดี สร้างอนาคตชาติ

วิจัยดี สร้างอนาคตชาติ

อควาติกคอนโทรลและกราวิเทคไทย กรณีตัวอย่างของผู้ประกอบการไทยที่สนใจนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดจนสามารถใช้งานได้จริง

อควาติกคอนโทรลและกราวิเทคไทย กรณีตัวอย่างของผู้ประกอบการไทยมือเปื้อน ที่สนใจนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดจนสามารถใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น การนำผลงานวิจัยไปใช้แก้ปัญหา สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ รวมถึงสร้างตลาดใหม่ให้เติบโตจนมีแนวโน้มขยายได้ไกลถึงตลาดโลก

ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติปี 2561 ได้นำเสนอตัวอย่างงานวิจัยของเนคเทคที่สามารถเปลี่ยนจากงานวิจัยขึ้นหิ้ง มาสู่ผลงานวิจัยตอบโจทย์ผู้ใช้งานและมีการนำใช้ได้จริงในภาคเอกชน

นวัตกรรมต้องการเวลา

นิธิวัฒน์ บางเสน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อควาติก คอนโทรล จำกัด ให้บริการระบบเติมอากาศสำหรับฟาร์มสัตว์น้ำ กล่าวว่า เมื่อมาเห็นงานวิจัยระบบควบคุมเครื่องตีน้ำอัตโนมัติ ทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็นต้องใช้ในทุกๆ ฟาร์ม จึงสนใจเข้ามารับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อนำไปให้บริการเชิงพาณิชย์

เริ่มจากกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการบริหารจัดการฟาร์มและการเพาะเลี้ยงกุ้งเศรษฐกิจแบบเรียลไทม์ และเชื่อมโยงข้อมูลแบบครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย ด้วยฝีมือนักวิจัยไทย โดยระบบสามารถประเมินคุณภาพน้ำเบื้องต้น พร้อมทั้งให้คำแนะนำสำหรับการปรับสภาพบ่อได้ทันที ขณะที่ผู้ใช้งานก็สามารถดูข้อมูลและบริหารจัดการฟาร์มได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน

“การทำนำงานวิจัยมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่คนทั่วไปอาจยังไม่รู้ จึงต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างการรับรู้และบอกต่อปากต่อปาก พร้อมทั้งการสาธิตเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนถึงข้อดีในการนำไปใช้งานจริง"

ในอนาคตจะมีศูนย์อบรมสาธิตแต่ละจังหวัด เพื่อให้ข้อมูลแก่เกษตรกร รวมถึงการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการนำเสนอกับหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนเงินทุน เช่น กระทรวงพลังงาน โดยต้องทำให้เห็นถึงประโยชน์ในการใช้ว่า จะช่วยลดพลังงานได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร

นิธิวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์อยากให้นักวิจัยที่ทำการวิจัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ที่ออกตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งาน โดยคำนึงถึงความต้องการในอนาคตที่เกิดขึ้นด้วย เนื่องจากการทำวิจัยต้องใช้เวลา กว่าสำเร็จออกมาใช้งานจริง หากเป็นโจทย์เดิมอาจไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและพฤติกรรมของผู้ใช้ จึงจำเป็นต้องมีการคิดคาดการณ์ล่วงหน้าก่อนที่ทำการวิจัย เพื่อให้ผลงานที่ออกมานั้นตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง

ทางลัดความสำเร็จ

ชานนท์ ตุลาบดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานในประเทศไทย 5 ปีพบว่า บริษัทยังขาดการเชื่อมโยงในด้านสะเต็มเอดูเคชัน (STEM Education) จากเดิมเน้น 3 กลุ่มหลัก คือ เอสเอ็มอี ฮาร์ดแวร์สตาร์ทอัพ และเมคเกอร์

ทั้งนี้ เนื่องจากมองเห็นปัญหาที่ประเทศยังขาดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ จึงมองเห็นโอกาสที่จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจเรื่องการประดิษฐ์ คิดค้น พัฒนาตั้งแต่เด็ก จึงสนใจซื้อสิทธิบัตรงานวิจัย KidBright จากเนคเทค ซึ่งเป็นแผงวงจรที่พัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียน ผ่านการเรียนรู้แบบ Learn and Play เพื่อใช้สื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน

“หลังจากที่ได้ซื้อลิขสิทธิ์งานวิจัย KidBright และพัฒนาเป็นต้นแบบปลายปี 2560 จากนั้นได้โครงการ Coding at School พัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรในเด็กผ่านบอร์ดสมองกลฝังตัวจำนวน 2 แสนชิ้น มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 100 ล้านบาท ที่สำคัญกลายเป็นที่รู้จักและสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการในต่างประเทศทั้งในสิงคโปร์และญี่ปุ่น”

ชานนท์ กล่าวต่อว่า ความได้เปรียบในการต่อยอดธุรกิจจากผลงานวิจัยในประเทศ คือการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องกังวลการลอกเลียนแบบเมื่อเทียบกับการจ้างผลิตในต่างประเทศ ที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐผ่านกลไกต่างๆ อาทิ การให้ทุนสนับสนุนการทำงานวิจัยต้นแบบ การทำตลาด รวมถึงการเข้าสู่ระบบบัญชีนวัตกรรม จะทำให้มีโอกาสได้รับสิทธิในการขายสินค้าให้กับหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

ดังนั้น การต่อยอดงานวิจัยจึงเป็นทางลัดสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีทุนในการทำงานวิจัย แต่มีความสามารถในการทำตลาด ได้เข้ามาศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในเทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีความสนใจ