เจาะแนวรบโซเชียลมีเดีย รัฐบาล-พรรค-คนการเมือง

เจาะแนวรบโซเชียลมีเดีย  รัฐบาล-พรรค-คนการเมือง

สนามสู้ศึกการเลือกตั้งเที่ยวนี้ นอกจากจะประลองกำลังฐานเสียงในพื้นที่แล้ว ยังมีเวทีโซเชียลมีเดีย ที่นักเลือกตั้งใช้เป็นพื้นที่สื่อสารกับฐานเสียง-แฟนคลับ สามารถโชว์ผลงานผ่านช่องทางการสื่อสารได้แบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

ขณะที่ พรรคการเมือง มีเพจเฟซบุ๊คในนามพรรคที่เป็นเซ็นเตอร์หลักแล้ว ยังแยกย่อยเพจเฟซบุ๊คระดับจังหวัดเกือบทุกจังหวัด เพื่อลงลึกไปในพื้นที่ เจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน การแข่งขันในโซเชียลมีเดียจึงเข้มข้นไม่ต่างจากการลงพื้นที่จริง

ขณะเดียวกันพรรคการเมืองน้องใหม่ฐานเสียงน้อย แนวรบโซเชียลมีเดียจึงสำคัญ สามารถพลิกชะตาเปลี่ยนชีวิตจากโนเนมให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจน คือพรรคอนาคตใหม่ ภายใต้การนำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค

ฝากฝั่ง รัฐบาล-กลุ่มหนุน กระโดดลงมาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับประชาชนเช่นกัน แม้ฐาน “แฟนคลับ” จะไม่สูงมาก แต่มีความพยายามจัดทำในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำเสนอผลงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เพจหลักของ บิ๊กตู่คือ Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน สร้างขึ้นเมื่อ 18 ส.ค.2560 มียอดกดไลค์ 32,600 คน ยอดติดตาม 35,781 คน เพจดังกล่าวโพสต์ข้อความภารกิจการปฏิบัติงานของ พล.อ.ประยุทธ์ เน้นการลงพื้นที่พบปะประชาชนและประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังมีเพจที่สื่อสารใกล้เคียงกัน อาทิ เพจทีมลุงตู่ สร้างเมื่อ 15 ก.ย.2558 มียอดกดไลค์ 57,232 คน ยอดติดตาม 57,780 คน เพจลุงตู่ตูน สร้างเมื่อ 1 มิ.ย. 2561 มียอดกดไลค์ 24,406 คน ยอดติดตาม 24,906 คน

นอกจากนี้ ยังมี เพจสายตรงไทยนิยม สร้างเมื่อ 5 มี.ค. 2561 มียอดกดไลค์ 20,521 คน ยอดติดตาม 22,934 คน เพจไทยคู่ฟ้า สร้างเมื่อ 31 ต.ค.2559 มียอดกดไลค์ 78,235 คน ยอดติดตาม 88,491 คน

เพจในเครือข่ายของรัฐบาลทั้งหมด นำผลงานของรัฐบาลมาสื่อสารกับประชาชน แต่ปัญหาหลักคือยอดกดไลค์และยอดติดตาม ยังมีไม่ถึงหลักแสนคน ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับฐานแฟนคลับของ นักการเมือง ที่มีฐานแฟนคลับเกินหลักหนึ่งแสนคน และนักการเมืองระดับแม่เหล็ก มีฐานแฟนคลับเกินหลักล้านคน

เบอร์หนึ่ง ที่มีฐานแฟนคลับมากสุดคือ อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ใช้ชื่อเพจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร Yingluck Shinawatra สร้างเมื่อ 6 พ.ค.2553 ยอดกดไลค์ล่าสุด 6,038,923 คน ยอดติดตาม 5,978,613 โดยมีคนเข้ามาติดตาม “ยิ่งลักษณ์” จำนวนมากระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ

“ยิ่งลักษณ์” จะจัดกิจกรรมนัดเจอ “แฟนเพจ” เมื่อยอดกดไลค์ครบทุกหลักล้าน โดยจะคัดเลือกมาร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อขยายฐานมวลชนเพิ่มความเหนียวแน่นมากกว่าเดิม และยิ่งลักษณ์เริ่มกลับมาโพสต์เฟซบุ๊คเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังหลบหนีคดีจำนำข้าวไปเมื่อเดือน ส.ค.2560

อันดับสอง เพจสุเทพ เทือกสุบรรณ Suthep Thaugsuban สร้างเมื่อ 23 มี.ค. 2554 มียอดกดไลค์ 2,748,129 คน ยอดติดตาม 2,687,795 คน มีคนเข้ามาติดตามเพจจำนวนมากในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. โดย “สุเทพ” ใช้เพจเฟซบุ๊คดังกล่าวในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน

อันดับสาม ทักษิณ ชินวัตร Thaksin Shinawatra สร้างเมื่อ 20 มี.ค. 2556 มียอดกดไลค์ 2,625,271 คน ยอดกดติดตาม 2,628,493 คน ซึ่ง “ทักษิณ” ไม่ได้ใช้เฟซบุ๊คเคลื่อนไหวหรือตอบโต้ทางการเมืองเป็นหลัก แต่มักจะใช้ช่องทางทวิตเตอร์มากกว่า โดยมียอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์ สูงถึง 5,870,000 คน

อันดับสี่ อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ Abhisit Vejjajiva สร้างเมื่อ 20 มิ.ย. 2551 มียอดกดไลค์ 2,281,739 คน ยอดติดตาม 2,221,245 คน “อภิสิทธิ์” ใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางหลักในการสื่อสาร เนื่องจากมีช่างภาพนิ่งส่วนตัว ช่วยเก็บรูปงานต่างๆ ปั้นภาพลักษณ์นักบริหาร และมักจะแชร์ "รายการต้องถาม" จากสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ ในเฟซบุ๊คด้วย

อันดับห้า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สร้างเพจเมื่อ 10 ก.ค. 2556 มียอดกดไลค์ 629,247 คน ยอดติดตาม 626,606 คน “ชัชชาติ” เป็นที่จับตามองในช่วงดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม โดยเฉพาะช่วงที่มีภาพแต่งตัวสบาย ๆ หิ้วถุงพลาสติก กลายเป็นมนุษย์แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ที่ทำให้เกิดกระแสอย่างมาก

ขณะที่ดาวโซเชียลมีเดียคนใหม่ อย่างเพจของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ Thanathorn Juangroongruangkit สร้างเมื่อ 20 มี.ค.2560 มียอดกดไลค์ 120,816 คน ยอดติดตาม 131,307 คน “ธนาธร” คาดหวังกับช่องทางโซเชียลมีเดียเอาไว้สูงลิบ เนื่องจากไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ จะสร้างใหม่ก็ไม่ทันการเลือกตั้งแน่นอน

ดังนั้นฐานที่มั่นเดียวของ “พรรคอนาคตใหม่” คือโซเชียลมีเดีย จึงได้จัดตั้งทีมงานรุกชิงพื้นที่ทุกจังหวัด หากได้ตัวผู้สมัครในเขตต่าง ๆ ก็อาจจะมอบหมายให้ตัวผู้สมัครในแต่ละเขต กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เร่งเปิดตัวในโลกออนไลน์

ส่วนพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมโลกออนไลน์มากสุด กลับเป็นเฟซบุ๊คของพรรคประชาธิปัตย์ Democrat Party สร้างเมื่อ 9 ก.พ. 2553 มียอดกดไลค์ 680,451 คน ยอดติดตาม 665,272 คน นำเสนอความเคลื่อนไหวของพรรค โดยล่าสุด ได้อธิบายกระบวนการคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นให้สมาชิกในเฟซบุ๊คได้ทำความเข้าใจ

อันดับสอง พรรคภูมิใจไทย ใช้เพจชื่อ กิจกรรมหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย สร้างเมื่อ 5 มี.ค. 2559 มียอด กดไลค์ 153,297 คน ยอดติดตาม 152,997 คน เน้นการนำเสนอความเคลื่อนไหวของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค

อันดับสาม พรรคเพื่อไทย pheuthaiparty สร้างเมื่อ 8 ก.ย. 2553 มียอดกดไลค์ 125,527 คน ยอดติดตาม 124,203 คน เน้นการนำเสนอวาทะกรรมของแกนนำพรรค ล่าสุดโฟกัสมาที่ ทีมคนรุ่นใหม่ ของพรรคที่เพิ่งเปิดตัวไม่ได้ไม่นานมานี้

อันดับสี่ พรรคอนาคตใหม่ Future Forward Party สร้างเมื่อ 24 ก.พ. 2561 มียอดกดไลค์ 65,599 ยอดติดตาม 70,020 ถือเป็นช่องทางของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่โฟกัสหลักยังอยู่ที่ตัวของ “ธนาธร”

ลำดับห้า พรรคชาติไทยพัฒนา ChartthaipattanaParty สร้างเมื่อ 17 ก.ย.2554 มียอดกดไลค์ 995 คน ยอดติดตาม 981 คน เมื่อเทียบเพจอื่นถือว่ามีจำนวนแฟนเพจน้อยมาก ทั้งที่เปิดเพจมาเกือบ 8 ปี

ส่วนพรรคการเมืองน้องใหม่ อย่าง พรรคพลังประชารัฐ สร้างเพจเมื่อ 28 ก.ย. 2561 มียอดคนกดไลค์ 156 คน ยอดคนกดติดตาม 160 คน เนื่องจากเพิ่งสร้างเพจได้เพียง 3 วัน หลังการเปิดตัวกรรมการบริหารพรรค จึงต้องติดตามว่า จะมีกลยุทธ์เรียกยอดแฟนคลับมาได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งหมดคือแนวรบโซเชียลมีเดียของรัฐบาล พรรคการเมือง และคนการเมือง ที่นับจากนี้จะขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการแข่งขันในพื้นที่!