ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 1 - 5 ต.ค. 2561

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 1 - 5 ต.ค. 2561

ราคาน้ำมันคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70 -75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80 – 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1 - 5 ต.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มตึงตัว จากการปรับลดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านและเวเนซุเอลา ขณะที่ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคตัดสินใจที่จะคงกำลังการผลิต โดยไม่สนใจต่อคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ประกอบกับ สหรัฐฯ ก็ยังไม่มีท่าทีที่จะขายน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพิ่มเติม  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังประเทศต่างๆ ได้ปรับลดอัตราการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนวันกำหนดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 4 พ.ย. 61 โดยตลาดคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอาจปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.4-2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากระดับก่อนหน้าที่จะมีการประกาศคว่ำบาตรที่ระดับ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ขณะที่อินเดียยังไม่มีทีท่าที่จะนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน พ.ย. 61
  • หลังการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปคในวันที่ 22-23 ก.ย. ที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียตัดสินใจที่จะคงระดับการผลิต โดยไม่สนใจต่อคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีการเพิ่มกำลังจากผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านที่ขาดหายไป ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียให้ความเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบกำลังอยู่ในระดับสมดุล และคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบของผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคจะมากกว่าอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลกในปีหน้า
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดอัตราการกลั่นต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น โดยในสัปดาห์ล่าสุด สำนักงานพลังงานสากลสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 396 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นลดอัตราการกลั่นราวร้อยละ 5 มาอยู่ที่ร้อยละ 4 ในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง
  • ความต้องการใช้น้ำมันโลกคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนโดยสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังต้องจับตาราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจกดดันอุปสงค์น้ำมันในอนาคตได้
  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed funds rate) ร้อยละ 25 มาอยูที่ระดับร้อยละ 2.00-2.25 ในวันที่ 26 ก.ย. พร้อมทั้งยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค. 61 ซึ่งการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลให้นักลงทุนลดการลงทุนในตลาดน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ อัตราการว่างงานสหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซน และยอดค้าปลีกยูโรโซน

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 - 28 ก.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 73.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.92 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 82.72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียตัดสินใจคงระดับการผลิตน้ำมันดิบ ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังประสบกับมาตราการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

--------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999