ศาลปค.ไม่ไต่สวนฉุกเฉิน กรณี'ขนส่ง'สั่งรถตู้10ปีหยุดวิ่งบริการ

ศาลปค.ไม่ไต่สวนฉุกเฉิน กรณี'ขนส่ง'สั่งรถตู้10ปีหยุดวิ่งบริการ

ศาลชี้ยังไม่มีเหตุฉุกเฉิน ส่วนคำขอคุ้มครองรอพิจารณาต่อ ด้านรถตู้731คันสู้ต่อ "ศรีสุวรรณ" เล็งขอความเป็นธรรม "นายกฯ-รมว.คมนาคม" อีกรอบ

ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 10.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และกลุ่มคนขับรถตู้โดยสารสาธารณะ นับ 100 คน เดินทางมาฟังคำสั่งการยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อน คดีที่ฟ้องอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกับคณะกรรมการ-บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รวม 4 รายคดีหมายเลขดำ 793/2561 จะมีคำพิพากษา ซึ่งในวันนี้ (1 ต.ค.) เป็นวันแรกที่เริ่ม ให้รถตู้โดยสารสาธารณะอายุการใช้งานครบ 10 ปีหยุดวิ่งบริการ โดยกลุ่มคนขับรถตู้ฯ ได้ยื่นคำขอไต่สวนฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากรวมตัวกัน 731 รายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.61 ที่ผ่านมา

โดยเมื่อเวลา 12.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เปิดเผยภายหลังรับฟังคำสั่งศาลปกครองกลางว่า ศาลได้พิจารณาคำขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการหรือวิธีการอย่างใดๆ ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาที่ฉบับลงวันที่ 28 ก.ย.61 ของผู้ฟ้อง 731 รายแล้ว เห็นว่ากรณียังฟังไม่ได้ว่า มีเหตุฉุกเฉินตามคำร้อง ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว โดยศาลจะพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องทั้ง 731 รายต่อไป ซึ่งเท่ากับศาลไม่ไต่สวนฉุกเฉิน แต่จะพิจารณาคำขอกำหนดวิธีการคุ้มครองต่อำปตาทขั้นตอน ส่วนเนื้อหาคดีหลักและคำขอท้ายฟ้องก็จะพิจารณาต่อไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ดี

นายศรีสุวรรณกล่าวด้วยว่า ถ้าเปรียบเทียบรถที่กรมการขนส่งทางบกให้การควบคุมดูแล เช่น รถประจำทาง ขสมก. และรถ บขส. อายุการใช้งานบางคันไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่กลับไม่ได้มีการยุติการให้บริการแต่อย่างใด หรือรถตู้ชนิดอื่นๆ เช่น รถพยาบาล , รถรับส่งนักเรียน ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปีขึ้นไปก็ยังสามารถวิ่งให้บริการได้ ซึ่งเห็นว่ารถสาธารณะทุกรูปแบบที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปีควรจะต้องทุกยุติให้บริการเหมือนกันหมด การเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องที่ตนต้องแถลงให้ศาลปกครองรับทราบว่าการใช้อำนาจไม่เป็นไปด้วยความชอบธรรม ซึ่งตนก็คิดว่าอาจจะไปยื่นขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ต่อไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ นายศรีสุวรรณ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และเครือข่ายสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัดรวมทั้งรถตู้โดยสารสาธารณะที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายการจัดระเบียบรถตู้ของ คสช. จำนวน 731 ราย ได้ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมการขนส่งทางบก , คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง , คณะกรรมการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะ และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.61 ข้อพิพาทเรื่องใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีนโยบายของรัฐบาล และ คสช. จัดระเบียบรถตู้ ด้วยการย้ายที่จอดรถตู้หมวด 2 ให้มารวมกันอยู่ในสถานีต่างๆ 3 แห่ง คือ สถานีหมอชิต , สถานีสายใต้ และสถานีเอกมัย จำนวน 4,205 คัน โดยสัญญาว่าจะจัดหารถ Shuttle bus มาวิ่งให้บริการรับส่งฟรีแก่ผู้โดยสาร แต่ต่อมาก็ยกเลิกเสีย และนโยบายการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของรัฐได้ก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบตามมาต่อผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร และผู้โดยสารที่จำเป็นต้องใช้รถตู้โดยสารในการสัญจร ขณะที่การกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขนั้นมีลักษณะยุ่งยากซับซ้อนและเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการและผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น การกำหนดและดำเนินนโยบายดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรถตู้โดยสารและผู้โดยสารในฐานะผู้บริโภค โดยมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติอันขัดต่อกฎหมายหลายประการ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา 9 ข้อ

คือ 1.ให้ผู้ถูกฟ้องจัดหารถ Shuttle bus วิ่งให้บริการรับส่งฟรี ในเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ ไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต) , สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) และสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ตามเดิม 2.ขอให้กำหนดมาตรการการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถไมโครบัสด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ และหรือการกำหนดมาตรการใด ๆ ดังกล่าวต้องให้มีการเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะและผู้มีส่วนได้เสียเสียก่อนตามที่กฎหมายบัญญัติ 3.ขอให้ยกเลิกมาตรการการบังคับให้รถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 (ต) และ (ช) รับ-ส่งผู้โดยสารได้เฉพาะสถานีต้นทางและปลายทาง และให้สามารถรับ-ส่งผู้โดยสารได้ระหว่างทาง

4.ขอให้เพิกถอนการบังคับให้รถตู้โดยสารสาธารณะ หมวด 2 (ช)เมื่อหมดอายุสัญญา 7 ปีแล้วไม่สามารถต่ออายุสัญญารถร่วมได้ ให้สามารถต่ออายุต่อไปได้ โดยใช้มาตรการการตรวจสภาพรถประจำปีมาเป็นมาตรการจำกัดอายุแทน 5.ขอให้ยกเลิกการจำกัดอายุการใช้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกหมวดให้หมดอายุเร็วกว่าศักยภาพหรือสมรรถนะของรถที่ควรจะเป็นในเวลา 10 ปี เป็นไม่มีการกำหนดอายุ แต่ให้ใช้มาตรการตรวจสภาพรถประจำปีมาใช้เป็นมาตรการจำกัดอายุแทน 6.ขอให้ระงับการรวมศูนย์สถานีรับ-ส่งผู้โดยสารมายังสถานีจอดรถรับส่งผู้โดยสารรถตู้โดยสารสาธารณะไปอยู่ยังพื้นที่ของสถานีขนส่งต่าง ๆ ทั้ง 3 แห่ง คือ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต), สถานีขนส่งสายใต้ (ปิ่นเกล้า) และสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ให้เป็นจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร โดยเปิดโอกาสให้เอกชน/ผู้ประกอบการสามารถไปแสวงหาพื้นที่ที่เพียงพอต่อการจัดตั้งสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารมาดำเนินการของตนเองได้เพื่อความเป็นธรรมต่อเอกชนหรือผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ภายใต้การกำกับกูแลของกรมการขนส่งทางบกแทน

7.ขอให้การกำหนดมาตรการตรวจสอบและทวนข้อมูลอย่างเป็นธรรม ในการบังคับให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบสัญญาณจีพีเอส 8.ขอให้ระงับมาตรการจัดระเบียบการจัดจำหน่ายตั๋วรถตู้โดยสารโดยให้เอกชนมาดำเนินการ โดยไม่มีการประมูลหรือดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ 2535 หรือไม่เป็นไปตามกฎหมายเสีย และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารจัดจำหน่ายตั๋วและรับส่งพัสดุภัณฑ์ด้วยตัวเอง พร้อมกับจัดสถานที่สำหรับรับส่งพัสดุภัณฑ์ให้กับผู้โดยสารรถตู้และผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร 9.ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรา 43 (3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 โดยเคร่งครัด โดยนำข้อเสนอแนะของผู้ฟ้องไปปฏิบัติหรือเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายและหาข้อสรุปร่วมกันในการจัดการและแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารสาธารณะ