นับหนึ่ง 'บิ๊กตู่' สู่ทำเนียบรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

นับหนึ่ง 'บิ๊กตู่' สู่ทำเนียบรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

"เปิดหน้าท้าชน" ไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ "พรรคพลังประชารัฐ" (พรปช.) บรรยากาศคลาคล่ำไปด้วย นักการเมืองและอดีตนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ข้าราชการ รวมถึงนักธุรกิจ ที่ตบเท้าเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง

000 สำหรับรายชื่อที่ออกมาถือว่าไม่ “พลิกโผ” ไปจากที่มีการระบุก่อนหน้านี้ แต่ที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญหนีไม่พ้น “4 รัฐมนตรี” อย่าง “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการพรรค “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค

000 โดยหัวหน้าพรรคอย่าง อุตตม ให้เหตุผลสุด “คลาสสิก” ถึงการร่วมงานกับพรรคพรรคประชารัฐว่า “เพื่อสานต่อนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้”

000 ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่งในการลงสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว จากนี้คงต้องจับตาต่อไปที่เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายปลายทางนั่นคือการดัน “บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับคืนสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย

000 โดยสูตรที่จะใช้แบ่งเป็น สูตรแรก การเสนอชื่อจาก “บัญชีพรรคการเมือง” โดยใช้สมการเสียงจาก “สภาล่าง" (ส.ส.) ตั้งแต่ 126 เสียงขึ้นไป+เสียงจาก “สภาสูง" (ส.ว.) ที่มีอยู่ในมือ 250 เสียง รวมเป็น 375 เสียงจาก 750 เสียง ซึ่งเพียงพอต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ สูตรที่ 2 การเลือก “นายกฯ คนนอก” คนจากบัญชี โดยจะใช้เสียง 500 เสียงจาก 750 เสียง ซึ่งถือว่าไม่ง่าย

000 จึงเป็นไปได้สูงที่ “พลังประชารัฐ” จะเลือกใช้สูตรแรก โดยจับมือกับพรรคแนวร่วมอย่าง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ”, พรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รวมถึง “กลุ่มสามมิตร” ของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สมศักดิ์ เทพสุทิน และอนุชา นาคาศัย” (ไม่นับรวมกับการส่งตัวแทนเข้าเป็นนอมินีในพรรคต่างๆ) รวบรวม 126 เสียง+ส.ว. 250 เสียง ก็เพียงพอต่อการเสนอชื่อนายกฯ

000 หลังจากนี้จึงต้องจับตาท่าทีของ “บิ๊กตู่” ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศว่า “สนใจการเมือง” ว่าจะประกาศความชัดเจนในเรื่องนี้เมื่อใด นี่ถือเป็นการนับหนึ่งสู่ทำเนียบรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์และพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว ระหว่างนี้เราจึงได้เห็นภาพการปั่น “คะแนนความนิยม” จากคนในรัฐบาลออกมาให้เห็นเป็นระยะ