'เจ้าด้วน' ลูกช้างเพศผู้วัย ตกหนองน้ำ จ.ชุมพร อาการยังน่าห่วง

'เจ้าด้วน' ลูกช้างเพศผู้วัย ตกหนองน้ำ จ.ชุมพร อาการยังน่าห่วง

เจ้าหน้าที่นำ "เจ้าด้วน" ช้างเพศผู้วัย 2 ปี ขึ้นจากตกลงหนองน้ำได้แล้ว พบว่าอาการทั่วไปตอบสนองดี ยกเว้นขาหลังไม่สามารถขยับเองได้ ยังต้องให้น้ำเกลือ ฉีดวิตามิน เร่งการฟื้นตัวของร่างกาย

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.61 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่า หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชชุมพร-ระนอง พร้อมด้วยผู้นำหมู่บ้าน ชาวบ้าน และคณะสัตว์แพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ได้นำรถแบ็กโฮบุกป่าเพื่อเข้าช่วยเหลือ ลูกช้างเพศผู้ ที่ชาวบ้านเรียกช้างตัวนี้ว่า “เจ้าด้วน” ซึ่งมีงวงผิดต่างจากธรรมชาติ คือมีงวงออกมายาวเลยจากปากเพียงเล็กน้อย

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการเข้าไปพบครั้งแรก เจ้าด้วน จมอยู่ในหนองน้ำ กว้างประมาณ 3-4 เมตร สภาพลำตัวด้านขวาจมมิดอยู่น้ำ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง เนื่องจากงวงซึ่งเป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญเช่นเดียวกับมือคน ในการใช้ยึดเหนี่ยว พยุงตัว แต่เจ้าด้วน งวงสั้นจึงไม่สามารถจะช่วยเหลือตัวเองได้ อีกทั้งพบว่า บริเวณขาหลังทั้งสองข้าง ไม่สามารถขยับได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ต้องจมอยู่ในน้ำถึง 2 วัน จนเจ้าหน้าที่เดินป่าเข้าไปพบ

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว กล่าวอีกว่า หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ได้พบเจ้าด้วน จมอยู่ในน้ำ ก็ได้พยายามหาวิธีเข้าช่วยเหลือให้ขึ้นมาจากน้ำให้ได้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้มากไปกว่าเฝ้าดูอยู่ห่างๆ เนื่องจากแม่ช้างและฝูงช้าง เดินวนเวียนอยู่ไม่ห่างจากที่เกิดเหตุ จนในวันนี้ซึ่งเข้าวันที่ 3 ทางแม่ช้างและฝูงช้าง ได้เดินจากไป เจ้าหน้าที่จึงเร่งนำเครื่องจักรพร้อมทีมสัตวแพทย์ เข้าทำการช่วยเหลือ นำตัวเจ้าด้วน ออกมาจากพื้นที่ โดยนำมาให้ห่างถึง 3 กม.เพื่อความปลอดภัย หวั่นแม่ช้างและฝูงช้างจะวกกลับมาอีก และจากการตรวจสอบ มีการตอบสนองของร่างกายดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ว่าจะดีหรือทรงตัว เบื้องต้นจึงต้องให้น้ำเกลือตลอด และฉีดวิตามินเพื่อช่วยกระตุ้นให้ฟื้นตัวจากความอ่อนล้า และช่วยกันยกขาหลังเพื่อทำกายภาพให้เจ้าด้วน วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น

ภายใต้การดูแลของ สพ.ญ.สิรินันท์ บุญนันท์ สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และในวันจันทร์จะมีทีมสัตวแพทย์จากกรมฯ ลงมาสมทบเพื่อดูแลรักษาเจ้าด้วน จนกว่าอาการจะดีขึ้น แข็งแรงพอที่จะเคลื่อนย้ายไปรักษาต่อที่ รพ.ช้างสาขาภาคใต้ จ.กระบี่ ต่อไป

สำหรับช้างฝูงนี้มีด้วยกัน จำนวน 13 ตัว โดยมีช้างเพศผู้ จำนวน 2 ตัว เพศเมีย จำนวน 8 ตัว และลูกช้าง อีก จำนวน 3 ตัว โดยในหนึ่งของลูกช้างทั้งสาม เจ้าด้วน มีอายุมากที่สุดของฝูง และคาดว่าอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แม่ช้างฝูงนี้ก็จะตกลูกช้างอีกตัว

โดยช้างฝูงนี้เดิมที่อาศัยอยู่ในป่า อ.พะโต๊ะ อ.หลังสวน อ.สวี และมาหากินที่ หมู่ 10 บ้านฉานเรน ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร แห่งนี้ โดยไม่ยอมย้ายถิ่นไปไหน มากว่า 3 ปีแล้ว โดยช้างฝูงนี้จะลงมากินพืชสวนของชาวบ้านอยู่เป็นประจำ แต่ทางชาวบ้านก็ใช้วิธีไล่ให้ขึ้นป่าไป โดยไม่ทำร้ายช้างฝูงนี้แต่อย่างใด จนชาวบ้านคุ้นเคย โดยเฉพาะช้างน้อยตัวนี้ ชาวบ้านมักจะเห็นเดินนำฝูง จึงได้ตั้งชื่อ “เจ้าด้วน”