6 สูตร “สุขยั่งยืน” เคลื่อนธุรกิจอสังหาฯ

6 สูตร “สุขยั่งยืน” เคลื่อนธุรกิจอสังหาฯ

ต้องการเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ที่แตกต่าง เติบโตยั่งยืน จึงเข้าไปปลูกความยั่งยืนผ่าน 6 ความสุข ทำให้ความสุขกลายเป็นนิยามที่มีตัวตน คนอยู่อาศัย หรือลูกบ้านสัมผัสได้ นิยามความสุขของ วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ปั้นแบรนด์ อารียา พรอพเพอร์ตี้ 

ยุคก่อตั้งธุรกิจของ บริษัทอารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)เกิดขึ้นหลังประเทศผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2542 โดยชื่อแบรนด์ “อารียา” ถูกรับรู้เป็นเจ้าแรกๆ ในฐานะผู้ทำโครงการหมู่บ้านหรู (luxury) ก่อนจะลงมาเล่นตลาดหลากหลายเซ็กเมนต์

โดยตลอด 20 ปีของการโลดแล่นในสังเวียนธุรกิจอสังหาฯ สิ่งที่อารียา ต้องการชูเป็นจุดแข็งคือ “การออกแบบความสุขอย่างยั่งยืน บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอัตลักษณ์แบรนด์ ให้ผู้อยู่อาศัยรับรู้  ทำให้แบรนด์นี้ เป็นแบรนด์ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกภูมิใจที่ได้อยู่อาศัย

นี่คือคำจำกัดความที่ วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี ประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดให้คนภายนอกได้รับรู้ สิ่งนี้ยังถือเป็นยุทธศาสตร์การสร้างธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรทั้งในเชิงมูลค่าและคุณค่า

ภายใต้วิสัยทัศน์ “สุขที่ได้สร้าง สุขที่ได้สร้างสรรค์ และสุขที่พร้อมจะส่งมอบแก่ทุกคนให้ความสุขดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด”

เมื่อออกแบบวิสัยทัศน์ ที่เป็นคำจำกัดความที่จับต้องไม่ได้ (Intangible ) ต้องทำให้กลายเป็นความรู้สึกที่จับต้องได้ (Tangible) นิยามที่พูดถึงความสุข จึงถอดรหัสถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีความมั่นคงในชีวิต มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีสังคมที่ดี

เป็นที่มาของการออกแบบเป็น 6 ความสุขที่ที่ยั่งยืน โดยการเข้าไปผสานความสุขให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนในสภาพแวดล้อมที่ดี

“ความสุขนั้นเหมือนจะจับต้องไม่ได้ แต่เราเชื่อว่าสุขของเราจับต้องได้ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จากจุดเริ่มต้นของการอยู่อาศัย” เขาเชื่อเช่นนั้น

สำหรับ 6 ความสุขยั่งยืนที่อารียาสร้างขึ้น ประกอบด้วย 

1.สุขคนสร้าง คนงานและแรงงานที่เป็นจุดเริ่มต้นของบ้านแห่งความสุข ควรได้รับความเป็นธรรม โดยกลุ่มธุรกิจเข้าไปช่วยพัฒนาทักษเฉพาะด้าน มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น พร้อมกันกับดูแลคุณภาพชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ในแคมป์คนงาน มีการบริหารจัดการที่ดี ที่ไม่เพียงแค่คนงาน แต่รวมถึงลูกหลานในแคมป์ได้เติบโตมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงสร้างศูนย์การเรียนรู้ในแคมป์งานกว่า 6 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ไทรน้อย ศูนย์บางบัวทอง ศูนย์บางนา ศูนย์หทัยราษฎรณ์ ศูนย์รังสิตคลอง 4 และศูนย์รังสิตคลอง 5 มีการให้ความรู้หลากหลายมิติ รวมถึงส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา

2.สุขเจ้าบ้านเจ้าบ้านที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า ดังนั้นพนักงานทุกระดับของอารียา จึงต้องได้รับความสุขผ่านการพัฒนาทักษะ ผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ที่สร้างความมั่งคงให้กับชีวิต

3.สุขลูกบ้าน ผู้บริโภค หรือ ลูกบ้านผู้รับการบริการด้านนวัตกรรม และการขาย เติมเต็มความต้องการตั้งแต่ออกแบบ จนถึงปิดการขาย มีการบริการหลังการขายผ่านแอพพลิเคชั่น ที่สามารถพูดคุย ร้องเรียน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

4.สุขเพื่อนบ้าน ผู้รับเหมา และค้าวัสดุ มีระบบการจัดซื้อผ่านโดยตรงที่โปร่งใส แบ่งปันผลกำไรเพื่อให้ธุรกิจอยู่ร่วมกันได้ 5.สุขสังคม : สังคมและชุมนใกล้เคียง สร้างให้เกิดชุมชนสุขยั่งยืน โดยการปรับพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นสวนสวยปลอดสารพิษที่ ให้ลูกบ้านได้มาปลูกผักสวนครัว ไม้ยืนต้นที่รับประทานได้ เลือกใช้พลังงานธรรมชาติ และรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะ มีทางปั่นจักรยาน พื้นที่ออกกำลังกายเพื่อให้ลูกค้าและคนในสังคมเป็นมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแกร่ง

6.สุขด้านสิ่งแวดล้อม  โดยอารียาเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้านการอยู่อาศัยเป็นมิตรด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยุคก่อตั้ง และเป็นผู้นำตลาดในการออกแบบบ้านให้กลมกลืนกับธรรมชาติ จนถึงปัจจุบัน ก็มีระดับความเข้มข้นขึ้น อาทิ การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำไปรดน้ำที่สวยและแปลงผักส่วนกลาง รวมถึงล้างถนนทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง

การสร้างสังคมให้ลูกบ้านพึงพอใจเช่นนี้ จึงส่งทำให้คนอยู่อาศัยรู้สึกภูมิใจในหมู่บ้าน หลังจากพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยอดของการบอกต่อกลายเป็นลูกค้า (Friend get Friend) ในช่วง 3ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 24%

แนวคิดทั้ง 6 ความสุข เป็นทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGS-Sustainable Development Goals) ใน 4 ด้านคือ ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ด้านการศึกษา ด้านการพัฒนาเมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน และมีความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ล่าสุด อารียายังปรับภาพลักษณ์แบรนด์ เริ่มต้นจากการถอดรหัสเทรนด์การใช้ชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนในยุคนี้และในอนาคต มี 5 สิ่งที่จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตคนยุคใหม่ให้สะดวกสบาย ประกอบด้วย

1.สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เทรนด์ใหม่มาแรงในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัดที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนใช้จ่ายผ่านบัตร ตัวเลขล่าสุดของพร้อมเพย์มีการโอนเงินระหว่างบัญชีถึง 4.9 แสนล้านบาท จาก 39 ล้านบัญชี โดยผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 72 ล้านบัญชี นั่นหมายถึงมีการโอนพร้อมเพย์ถึงบัญชีละ 3,860 บาทต่อเดือน

2.เทรนด์ชีวิตติดเทคโนโลยี (Technology) เป็นกลุ่มคนสตาร์ทอัพ และผู้สนใจเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร

3.เทรนด์ชีวิตที่หรูหราดูมีรสนิยม ไม่ใช่เพียงของแพง แต่หมายถึงการพิถีพิถันเลือกสินค้าและบริการที่บ่งบอกความเป็นตัวตน มีความโดดเด่นแตกต่างและมีคุณค่าที่น่าหลงใหล

4.ธรรมชาติ (Green & Clean Living) เมื่อคนก้าวขึ้นมามีรายได้เพิ่มขึ้น ก็โหยหาความเป็นธรรมชาติ และตะหนักถึงที่อยู่อาศัยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะคนรุ่นใหม่มองเห็นความสำคัญของธรรมชาติมีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจ

และ 5.ความต้องการบริการหลังการขาย (After Sales) หลังจากหลายคนเจ็บตัวและบอบข้ำมากับโครงการที่พักอาศัยขายจบก็ปิดการขายไปแล้วจบกัน จึงเลือกที่พักอาศัยที่ใส่ใจดูแลผู้บริโภคหลังการขายที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

เป็นที่มาของการออกแบบกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าในบ้านในระยะยาวผ่าน “4 ยุทธศาสตร์” ที่ทำให้แบรนด์เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ประกอบด้วย งานออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สะท้อนความหรูหรา ดูดี มีคุณค่า (Aesthetic Design & Premium Quality) , ความสุขและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Happiness),นำนวัตกรรมเข้ามาเสริมความเป็นอยู่ (Innovation Living) และการบริการลูกค้าตั้งแต่เริ่มจนจบการขาย (After Sales Service)