มธ.เมืองอัจฉริยะ โมเดลนำร่องอนาคตไทย

มธ.เมืองอัจฉริยะ โมเดลนำร่องอนาคตไทย

“ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต” เตรียมหาผู้ร่วมลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เดินหน้าขับเคลื่อนเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะบนพื้นที่ 1,757 ไร่ในเขตคลองหลวง ปทุมธานี และจำนวนประชากรเทียบเท่า 33,060 คน ระบุอีก 2 ปีวางโครงสร้างเมืองอัจฉริยะแบบมาตรฐานได้สำเร็จ

มธ.หวังที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ และเมื่อประสบความสำเร็จก็จะเป็นสถานที่เรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ รวมถึงอาจต่อยอดไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีความพร้อม อาทิ มหาวิทยาลัยในหัวเมืองใหญ่ รวมถึงเกษตรศาสตร์และแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

5 องค์ประกอบหลัก

ผศ.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ จะต้องผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ เข้ากับความเป็นเมือง ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเชื่อมโยงหรือเข้าถึงผู้อยู่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ ได้ โดยแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วย 5 เรื่องหลักคือ 1.การย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมือง ซึ่งปัจจุบันความหนาแน่นของประชากรกว่า 50% อยู่ในเขตเมือง และคาดการณ์ว่าอนาคตจะเพิ่มเป็น 70%

2.การเมืองที่ต้องการความโปร่งใส 3.ข้อมูลต่างๆ ต้องเปิดหรือเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงได้ 4.แนวโน้มด้านข้อมูลโดยเฉพาะบิ๊กดาต้าที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหลายภาคส่วนต้องอาศัยการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการวางแผน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ที่ต้องตรวจสอบการบริโภคสำหรับวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการใช้ และ 5.แนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะปรับให้เมืองเข้าสู่ความเป็นอัจฉริยะเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“หากมองในภาพรวมแล้ว ประเทศไทยยังไม่ใช่เมืองอัจฉริยะเพราะปัจจุบันยังแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้มองในเชิงระบบหรือมองเป็นองค์รวม เพราะการจะเป็นเมืองอัจฉริยะต้องเอาปัญหาหรือข้อจำกัดต่างๆ มาวางตรงหน้า แล้วทำงานคู่ไปกับการทำผังเมือง โดยมีกรอบการทำงานที่เป็นภาพใหญ่และบริหารจัดการเป็นระบบๆ”

ความท้าทายที่ซ่อนอยู่คือ ความพยายามในการผลักดันให้เกิดเมืองอัจฉริยะ ดังเช่น กรุงเทพฯ ที่มีมากกว่า 50 เขต ซึ่งใหญ่เกินไป ฉะนั้น หากจะทำก็ต้องเริ่มเป็นพื้นที่ๆ ไป หรือเริ่มในต่างจังหวัด ที่มีความเหมาะสม คือ ขอบเขตที่ชัดเจน ความหนาแน่นในระดับที่มีความเป็นเมือง มีระบบสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมขนาดเล็กและหน่วยงานปกครอง เช่น เทศบาล อบต. เป็นต้น

ในส่วนของ มธ. รังสิต เป็นพื้นที่ที่มีปัจจัยพร้อมสำหรับผลักดันเป็นเมืองอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็น ความพร้อมของสถานที่และคน อีกทั้งผู้บริหารมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ แม้ว่าการลงทุนนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนจากนักลงทุนที่สนใจ แต่ก็ได้ตัดสินใจเดินหน้าสร้างให้เป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยจัดทำมาสเตอร์แพลนเสร็จแล้ว ทางผู้บริหาร มธ. เองก็เริ่มเขียนโมเดลธุรกิจที่จะตอบโจทย์ทั้งเมืองอัจฉริยะ ประชาชนผู้อาศัยและผู้ลงทุน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลักร้อยล้านบาทขึ้นอยู่กับรูปแบบเมืองรวมถึงแผนระยะสั้นและระยะยาวอีกด้วย” ผศ.นพพร

หากพร้อมทั้งสถานที่ คนและเงินลงทุน ก็จะใช้เวลา 2 ปีสร้าง มธ. วิทยาเขตรังสิตที่จะได้โครงสร้างตามมาตรฐานของการเป็นเมืองอัจฉริยะได้ แต่หากจะทำเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์แบบต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี

“ดีอี”เล็งปีนี้ปั้น 7 เมืองสมาร์ท

นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในงานสัมมนา Delta Future Industry Summit 2018 ว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

“2 ปีที่ผ่านมาได้พยายามนำร่องพัฒนาภูเก็ตเป็นแห่งแรกให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ ส่วนปีนี้มีแผนที่จะผลักดันสมาร์ทซิตี้ให้ได้ 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ และอีก 3 จังหวัดในอีอีซี คือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จะมีคณะกรรมส่งเสริมเข้าไปกำหนดทิศทางใน 3 เรื่อง คือ ผังเมือง พลังงานและดิจิทัล หลังจากประสบความสำเร็จก็จะขยายไปยัง 70 จังหวัดภายใน 5 ปี ”

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น คนในชุมชน เพื่อหาแนวทางการบริการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีขับเคลื่อน ดีอีในฐานะเป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น แต่ในการบริหารจัดการเพื่อเกิดความยั่งยืนต้องอาศัยภาคประชาสังคมเป็นตัวขับเคลื่อน ให้เกิดสมาร์ทซิตี้ไปสู่สมาร์ทคันทรี