คุก 9 ปี 'ผู้บริหารเอวิเอ' คดีฉ้อโกงขาย 'จีที200'

คุก 9 ปี 'ผู้บริหารเอวิเอ' คดีฉ้อโกงขาย 'จีที200'

ศาลแขวงดอนเมือง พิพากษาจำคุก "ผู้บริหารเอวิเอ" ฉ้อโกงขาย "จีที200" ใช้งานไม่ได้ให้ "กรมราชองค์รักษ์" ส่วนบริษัท เจอรับ 1.8 หมื่น รอตัดสินอีกสำนวนหลอกขายสถาบันนิติฯ 4 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.61 ที่ศาลแขวงดอนเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 328/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (AVIA SATCOM CO.,LTD.) , นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บจก.เอวิเอฯ , นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ , นางศศกร ปลื้มใจ ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานบริษัท เอวิเอฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา ( ป.อาญา) มาตรา 341

โดยคำฟ้องอัยการโจทก์ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวัน-เวลาใดไม่ปรากฏชัด -วันที่ 28 ก.พ.51 เวลากลางวัน ,วัน-เวลาใดไม่ปรากฏชัด - วันที่ 21 ก.ค.52 เวลากลางวัน , วัน-เวลาใดไม่ปรากฏชัด - วันที่ 14 ก.ย.52 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสี่ ร่วมกันหลอกลวง กรมราชองครักษ์ ผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ซึ่งการเสนอขายเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ วัตถุระเบิด (GT200) ให้แก่ผู้เสียหาย พวกจำเลยได้กล่าวอ้างคุณภาพเครื่องดังกล่าว พร้อมแสดงเอกสารแนะนำสินค้าที่มีข้อความอวดอ้างสรรพคุณของเครื่องดังกล่าวว่า เครื่องดังกล่าวมีการใช้งาน 25 ประเทศทั่วโลก และมีรายงานผลการทดลองประสิทธิภาพของเครื่องดังกล่าวที่ยืนยันประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่ใช้กับเครื่องดังกล่าวจากกองทัพบกอังกฤษ , กระทรวงกลาโหมเนเธอร์แลนด์

โดยเครื่องดังกล่าวสามารถตรวจค้นหาได้ทั้งสารเสพติดและวัตถุระเบิดในเวลาเดียวกัน สามารถตรวจค้นยานพาหนะ สถานีขนถ่ายสินค้า รถขนส่งสาธารณะ การค้นหาในที่โล่ง การตรวจจับอาวุธและสารเสพติดที่ถูกซุกซ่อนโดยการฝังหรือซุกซ่อนไว้ในโพรงใต้ดิน ซึ่งสามารถตรวจจับได้จากระยะไกลกว่า 500 เมตร ใช้ในภารกิจทางอากาศเพื่อค้นหาพื้นที่เพาะปลูกฝิ่นหรือกัญชาใช้ในภารกิจทางน้ำ เพื่อค้นหาสิ่งเสพติด หรืออาวุธที่ฝังอยู่ใต้น้ำ หรือตามชายฝั่ง การตรวจสอบอาคารโดยไม่ต้องเข้าไปในภายในอาคาร เพราะเครื่องสามารถตรวจสอบสิ่งต่างๆ ผ่านกำแพงหนาที่ทำจากคอนกรีตเหล็ก อิฐ หรือตะกั่วได้ มีแหล่งกำเนิดพลังงานของเครื่องเป็นแบบไฟฟ้าสถิตจึงไม่ต้องใช้แบตเตอรี่เพื่อเปิดใช้งานแต่จะใช้ไฟฟ้าสถิตที่เกิดจากผู้ใช้งานแทน ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความอันเป็นเท็จฯ

ทั้งที่ความจริงแล้ว เครื่องดังกล่าวที่จำเลยทั้งสี่เสนอขายแก่ผู้เสียหายไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง เครื่องดังกล่าวไม่มีความสามารถที่จะตรวจหาสารเสพติด อาวุธ วัตถุระเบิดได้ และจากการหลอกลวงครั้งแรกทำให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อซื้อเครื่องดังกล่าวจากจำเลยทั้งสี่ จำนวน 2 เครื่อง และจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่ไป 1.8 ล้านบาท และจากการหลอกลวงครั้งที่ 2 ทำให้ผู้เสียหาย หลงเชื่อซื้อเครื่องดังกล่าวจากจำเลยทั้งสี่จำนวน 3 เครื่อง และจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่ไป 3.6 ล้านบาท ขณะที่จากการหลอกลวงครั้งที่สุดท้าย (ครั้งที่ 3) ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อซื้อเครื่องดังกล่าวจากจำเลยทั้งสี่ จำนวน 3 เครื่อง และจ่ายเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่ไป 3.6 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต กทม.

โดยชั้นพิจารณาจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี ขณะที่วันนี้ จำเลยทั้งหมดเดินทางมาศาลฟังคำพิพากษา พร้อมทนายความ
ขณะที่ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์แล้ว เห็นว่า การกระทำของ บจก.เอวิเอฯ จำเลยที่ 1 และนายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหาร บจก.เอวิเอฯ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซึ่งไม่สามารถใช้งานได้จริงตามประสิทธิภาพการโฆษณานั้นมาขายให้กับผู้เสียหาย มีความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อาญา ม.341 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1-2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

พิพากษาให้ปรับ บจก.เอวิเอฯ จำเลยที่ 1 รวม 3 กระทงๆละ 6,000 บาท ปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 18,000 บาท และให้จำคุก นายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหาร บจก.เอวิเอฯ จำเลยที่ 2 รวม 3 กระทงๆ ละ 3 ปี จึงจำคุกทั้งสิ้น 9 ปี โดยให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ 2012/2560 และคดีอาญาหมายเลขแดง 1711-1713/2561 ของศาลนี้ ส่วนขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำ 133/2561 ของศาลนี้ด้วยนั้นเนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษาจึงยังไม่อาจนับโทษต่อได้
และพิพากษาให้ยกฟ้อง นายเดชพิภัทร์ วัฒนกิจ และ นางศศกร ปลื้มใจ จำเลยที่ 3-4 ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานบริษัท เอวิเอฯ โดยให้ริบของกลางด้วย ขณะที่ นายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหาร บจก.เอวิเอฯ จำเลยที่ 2 ได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งศาลตีราคาประกัน 900,000 บาท

ภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว นายวรอรรถ สุนทรอภิชาต ทนายความของ บจก.เอวิเอฯ และผู้บริหาร จำเลยที่ 2 กล่าวว่า ศาลได้วินิจฉัยว่า บจก.เอวิเอฯ ในฐานะผู้ขายควรจะทราบว่าสินค้าใช้การไม่ได้ เมื่อเราเอามาขาย ศาลก็ตัดสินว่าเรามีความผิดฐานฉ้อโกง แต่ในความเป็นจริง GT 200 มีการโฆษณาในสื่ออื่นๆ แล้วก็มีประเทศอื่นๆ สั่งซื้อมาก่อนหน้าเรา เราเอามาขายโดยที่ไม่ทราบ เราเหมือนเป็นผู้จัดการทางธุรการเท่านั้น ก่อนหน้าเราไม่เคยเห็นสินค้ามาก่อน GT 200 ถือเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหาร บริษัทเอกชนย่อมไม่มีสิทธิที่จะครอบครองและนำมาใช้ จึงไม่มีโอกาสรู้ว่าเครื่องใช้การได้หรือไม่ พอเครื่องมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ทหารก็เอารถมารับ การตรวจสอบว่าเครื่องจะใช้การได้หรือไม่ได้ ต้องตรวจสอบโดยทางเทคนิค ต้องใช้ห้องทดลอง จากการสืบพยานในคดี เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 1 เครื่อง ต้องใช้เวลาตรวจสอบ 1 วัน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทางบริษัทไม่มีศักยภาพ เราเป็นบริษัทที่ซื้อมาขายไป เป็นตัวแทนขายเท่านั้นเอง ไม่ได้มีความรู้พิเศษหรือช่างตรวจพิสูจน์ในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงตรงส่วนนี้เราจะนำไปสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

นายวรอรรถ ทนายความ กล่าวอีกว่า สำหรับคดีนี้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1-2 เป็นบริษัทและผู้บริหารบริษัท ซึ่งนายสุทธิวัฒน์ กรรมการบริษัทเอวีเอฯ ค้าขายสินค้าทางเทคนิคหลายอย่าง เราไม่อาจทราบได้ว่าสินค้าใดมีปัญหา ถ้าเราต้องไปตรวจสอบทุกเรื่องก็จะทำการค้าขายไม่ได้ การกระทำรูปแบบบริษัทจะต้องจ้างบุคลากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดซื้อเครื่อง GT 200 หน่วยงานภาครัฐก็มีการสั่งซื้อมาโดยระบุสเปค ก่อนหน้านี้ทางกองทัพอากาศก็เคยสั่งซื้อมาก่อน และใช้งาน เมื่อเห็นว่าเครื่องได้ผล หน่วยราชการอื่นก็ได้ซื้อตามมา เมื่อมีหน่วยราชการต้องการซื้อจำนวนมาก ทางบริษัทโกลบอลก็ไม่สะดวกที่จะติดต่อกับทางราชการไทย เลยให้ทางราชการไทยติดต่อหาตัวแทนทางธุรการ ซึ่งเราก็โชคไม่ดีที่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนทางธุรการ เพราะว่าเคยค้าขายกับทางราชการมาก่อนเท่านั้นเอง แต่เราซึ่งเป็นตัวแทนทางธุรการไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นของ ก่อนที่จะเป็นตัวแทนเราก็เห็นเพียงแต่รูป เราเข้ามาเป็นตัวแทนกลางปี 2550 ทั้งที่ก่อนหน้านี้จีที 200 มีการซื้อขายกันตั้งแต่ปี 2548 กับทางกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นการจัดซื้อตรงกับบริษัทโกลบอล ไม่ได้มีการมาผ่านเรา ทางบริษัทเราเคยค้าขายกับทางราชการมาก่อนก็อยากช่วยเหลือ ไม่ได้มีเจตนาอื่น ที่เราจัดซื้อมาไม่ได้มีผลกำไรแต่อย่างใด กำไรที่ได้ก็เป็นค่าบริหารจัดการเหลือไม่ถึง 10% ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรเป็นพิเศษ ทั้งพนักงานทั้งกรรมการ

ทั้งนี้ นายวรอรรถ ทนายความ กล่าวด้วยว่า นอกจากคดีในวันนี้แล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่ถูกฟ้อง โดยยังเหลือคดีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ฟ้องเรา ส่วนหน่วยงานอื่นเขาเข้าใจและเห็นใจเราว่าเราไม่ได้มีเจตนาไปหลอกลวง เพราะเขาก็เป็นคนเสนอให้เอาสินค้าชิ้นนี้มาขาย ตนเชื่อว่าเขารู้ พอเริ่มมีข่าวว่าเครื่องมีปัญหาใช้การไม่ได้ การซื้อขายสิ้นสุดลงแล้วในปี 2552 ทางราชการยุติตั้งแต่ปีนั้น

คดี GT 200 สำนวนนี้ ถือเป็นสำนวนที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษาในส่วนของคดีอาญา สำนวนแรกเป็นคดีที่กรมสรรพาวุธ สังกัดกองทัพบกเป็นผู้เสียหาย อัยการคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องเรา ศาลแขวงดอนเมืองมีคำพิพากษาเมื่อช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อน ให้ลงโทษจำคุกนายสุทธิวัฒน์ 10 ปีจากการซื้อขาย 12 สัญญา รวมมูลค่า 600 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่าในคดีดังกล่าวนั้นมีการฟ้องถึง 12 กรรม แต่ศาลก็ลงโทษเพียง 10 ปี ต่างกับคดีนี้ที่มีการฟ้องเพียง 3 กรรม แต่ลงโทษถึง 9 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุผลในคำพิพากษาของศาลแขวงดอนเมืองที่พิพากษาลงโทษ ผู้บริหาร บจก.เอวิเอฯ ในวันนี้ ได้อ้างอิงผลการทดสอบจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งสรุปว่า เครื่อง GT 200 ไม่สามารถใช้งานได้จริงตามคู่มือและคำโฆษณา ประกอบกับผลการทดสอบของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อปี 2553 ที่พบว่าผลการทดสอบหาสารตัวอย่าง 20 ครั้ง แต่เครื่อง GT 200 สามารถหาตำแหน่งสารตัวอย่างได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง ไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าต้องหาให้เจออย่างน้อย 13 ครั้ง จึงสรุปว่า 4 ครั้งที่พบสารตัวอย่างเป็นการเดาสุ่ม ไม่สามารถใช้งานได้จริง อีกทั้งเมื่อถอดเครื่องออกพบเพียงพลาสติก 2 แผ่นประกบกันและมีเสายื่นออกมา ไม่ได้มีแผงวงจรไฟฟ้าใดๆ นอกจากนี้ ศาลยังเชื่อถือคำให้การของตำรวจ จ.ปัตตานี ที่ระบุว่าทหารเคยใช้เครื่อง GT 200 ตรวจรถต้องสงสัย และแจ้งว่าไม่พบระเบิด แต่เมื่อตำรวจเข้าไปตรวจสอบ กลับพบว่ามีระเบิดทำงานอยู่และเกิดระเบิดขึ้น ส่วนคำให้การของพยานจำเลย 3 ปาก ที่ยืนยันกับศาลว่าเครื่องใช้งานได้จริงนั้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างไร้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีจำเลยที่ 2 อ้างไม่ทราบคุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ว่าใช้การได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายของบริษัทโกลบอลฯ สหราชอาณาจักร นั้น ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ใส่ใจในการซื้อขายสินค้า เพราะเครื่อง GT 200 มีราคาสูงมาก ในฐานะผู้ขายจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติและประสิทธิภาพของสินค้าก่อนส่งมอบเสมอ หรืออาจรู้ก่อนแล้วว่าเครื่อง GT 200 ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังขายให้หน่วยงานของรัฐ ศาลจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีเป้าหมายแสวงหาผลประโยชน์ มีความผิดฐานฉ้อโกง ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคดีที่ นายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหาร บจก.เอวิเอฯ ถูกฟ้องอีกสำนวน โดยมีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้เสียหายนั้น ศาลแขวงดอนเมืองนัดพิพากษาในวันที่ 4 ต.ค.นี้