‘แกรนท์ ธอนตัน' เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจทั่วอาเซียนขยายตัว ขณะที่ไทยรอดูท่าที

‘แกรนท์ ธอนตัน' เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจทั่วอาเซียนขยายตัว ขณะที่ไทยรอดูท่าที

'แกรนท์ ธอนตัน' เผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอาเซียนไตรมาส2 ปีนี้ขยายตัวที่ 64%สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 4ไตรมาสติดต่อกัน แต่ยังระวังความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนและแนวโน้มจ้างงานลดลง ด้านธุรกิจไทยยังรอดูท่าที กดดัชนีความเชื่อมั่นวูบเหลือ2%

นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตันในประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานผลสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton’s International Business Report - IBR)ในช่วงไตรมาส2ของปี2561 ว่า ธุรกิจทั่วอาเซียนระบุค่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจสูงเป็นประวัติการณ์ด้วยค่าเฉลี่ยสุทธิทั้งภูมิภาคที่ร้อยละ 64 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 54 นับเป็นสถิติใหม่ของอาเซียนที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจสูงขึ้นถึง 4 ไตรมาสติดต่อกัน  

สะท้อนถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลังการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในอาเซียนระหว่างปี 2561 จนถึงปี 2566 จะสูงกว่าร้อยละ 5 โดยในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 และในปี 2566 คาดการณ์ที่ ร้อยละ 5.5 และดัชนีความเชื่อมั่นจะสูงขึ้นด้วยการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ในมาเลเซีย ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 สู่ค่าเฉลี่ยสุทธิร้อยละ 52 ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 สู่ค่าเฉลี่ยสุทธิร้อยละ 82 ธุรกิจในอินโดนีเซียยังคงมีความเชื่อมั่นที่เป็นบวกอย่างมากด้วยค่าเฉลี่ยสุทธิร้อยละ 98 ซึ่งสูงสุดจากทุกประเทศที่ทำการสำรวจ 

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจ IBR ระบุว่าระดับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดังกล่าวยังมีสิ่งที่ต้องระวัง ธุรกิจทั่วอาเซียนจำนวนมากแสดงความกังวลถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปีนี้เรื่อยไปจนปี 2562 ธุรกิจในอาเซียนที่ระบุว่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโตทางธุรกิจมีอยู่ร้อยละ 36 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 29 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 26 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ความกังวลนี้สูงขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสที่ผ่านมาในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และมาเลเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ดังนั้นมองว่าการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นวิธีการช่วยลดผลกระทบต่อธุรกิจได้ 

ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรพิจารณาคือเรื่องอัตราการจ้างงานที่คาดว่าจะลดลงทั่วทั้งภูมิภาค ตัวเลขปัจจุบันแสดงให้เห็นว่ามีเพียงร้อยละ 31 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้  อนึ่งอัตราการจ้างงานที่ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสที่ 1 นับเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับจากปลายปี 2559 เป็นต้นมา อันแสดงถึงปัจจัยที่ซับซ้อนของภูมิภาค แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นจะสูงขึ้นก็ตาม 

อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจภาพรวมอาเซียนจะสูงขึ้น แต่ในไทยกลับพบว่าลดลง จากค่าเฉลี่ยสุทธิร้อยละ 16 ลดลงมาที่ร้อยละ 2 ในไตรมาส2ของปี2561 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นของไทยแม้จะไม่สูงแต่เมื่อดูในรายละเอียดผลสำรวจอาจไม่แย่อย่างที่คิด โดยผลตอบรับจากธุรกิจที่ “มองแนวโน้มในแง่ลบมาก”  มีภาพรวมลดลงจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และจำนวนตอบรับที่เป็นกลาง (“มองแนวโน้มไม่เป็นไปในแง่ดีหรือแง่ลบ”) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 58 ในช่วงเวลาเดียวกัน 

ด้าน นายธีรศักดิ์ ฉั่วศรีสกุล หุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 ว่า แนวโน้มดังกล่าวนับเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองจากข้อมูลผลสำรวจแล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่ให้คะแนนความเชื่อมั่นอยู่ในระดับกลางๆมากขึ้น ซึ่งส่วนที่มองในด้านดีมีน้อยลง ในขณะเดียวกัน จำนวนธุรกิจที่มองในด้านลบก็ลดน้อยลง เช่นกัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยผลสำรวจส่วนใหญ่จะมองกลางๆ อาจเพราะหลายๆ ธุรกิจต่างสงวนท่าที และรอจนกว่าจะได้เห็นความคืบหน้าของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีประกาศสนับสนุนโครงการในหลายด้าน รวมถึงการศึกษา และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งภาคธุรกิจน่าจะต้องการเห็นผลลัพธ์ก่อนจึงจะกล้าเดินหน้าเต็มตัว

การตอบรับจากภาคธุรกิจไทยบ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายดัชนีอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การคาดการณ์ด้านรายได้, การส่งออก, การวิจัยและพัฒนา รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีต่างมีคะแนนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเลขของข้อจำกัดด้านการเติบโตทางธุรกิจกลับมีคะแนนลดลง ซึ่งนับเป็นเรื่องดีต่อธุรกิจไทย เช่น การขาดแคลนเงินทุน ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันกฎระเบียบราชการที่ซับซ้อน และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะการทำงานยังคงเป็นความท้าทายหลักสำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ในไทย

 “เป็นที่ทราบมานานแล้วว่าระบบราชการอาจเป็นปัญหาต่อการปฏิรูปประเทศไทย 4.0 อีกเรื่องคือ อัตราก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจก็ถือเป็นความท้าทายสำหรับสถาบันการศึกษาเนื่องจากต้องเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ข่าวดีคือธุรกิจเริ่มจะเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เมื่อผนวกกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศที่ดีกว่าเดิม อนาคตเศรษฐกิจไทยจะยังก้าวหน้าไปได้อีกไกล”