เปิดประวัติ 'วัดพระยาทำวรวิหาร'

เปิดประวัติ 'วัดพระยาทำวรวิหาร'

เปิดประวัติ "วัดพระยาทำวรวิหาร" วัดเก่าแก่ เดิมมีชื่อว่า วัดนาค

วัดพระยาทำวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่เลขที่ 47 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงช่างทองหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เดิมเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างมาแต่สมัยใด ได้กำหนดอายุจากหลักฐานคือธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมมีชื่อว่า วัดนาค เป็นวัดคู่กับ วัดกลาง ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองมอญ เขตบางกอกน้อย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ ให้ปฏิสังขรณ์ โดยแบบสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วสถาปนา เป็นวัดหลวง และเปลี่ยนชื่อจากวัดนาค เป็น วัดพระยาทำ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ หอระฆัง หรือเรียกกันติดปากว่าเจดีย์ยักษ์ มีลักษณะทางศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ประดับกระเบื้องเคลือบ ส่วนฐานเป็นช่องโค้งแหลมทั้ง 4 ด้าน กรอบของช่องโค้งนี้ มีรูปครุฑเหยียบนาคทั้ง 4 ช่อง ตรงมุมล่างติดพื้นดินมีรูปปั้นยักษ์ยืนประจำทั้งตรง 4 มุม มุมละ 4 ตน ชั้นบนมีรูปปั้นยักษ์ทั้ง  4 ทิศ ยอดหอระฆังทำเป็นทรงปราสาทจากการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หอระฆังแห่งนี้ได้รับการปฏิสังขร์เพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 5 ตามลำดับ

ข้อมูลจากเจ้าอาวาสวัดพระยาทำวรวิหาร ได้ความว่าหอระฆังแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อพุทธศักราช 2537 และ เมื่อพุทธศักราช 2555 ทางวัดพระยาทำได้แจ้งมายังกองโบราณคดี ถึงสภาพความชำรุดเสียหายของหอฆัง เมื่อดำเนินการสำรวจสภาพแล้วพบว่า หอระฆังมีความชำรุดเสื่อมสภาพตั้งแต่ชั้นปูนฉาบจนถึงชั้นโครงสร้างอิฐ และได้รับการถมพื้นที่โดยรอบโดยปิดทับองค์ประกอบชั้นฐานหอระฆังบางส่วน ทำให้โบราณสถานสูญเสียคุณค่าในด้านสถาปัตยกรรม