MQDC สร้างพันธมิตร Upcycling พัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน

MQDC สร้างพันธมิตร Upcycling พัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืน

แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) จัดตั้งเครือข่ายเพื่อดำเนินงานนำวัสดุ ‘upcycled’ มาใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในทุกด้าน ทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น และเพิ่มจำนวนวัสดุใช้แล้วนำกลับมาใช้ มากกว่า 20% ของอาคาร

บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ผนึกกำลังพันธมิตร upcycling ในการนำวัสดุที่ใช้แล้วไปพัฒนาเป็นองค์ประกอบอาคารส่วนต่างๆ ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งภายในอาคารจนถึงภายนอกอาคาร ตั้งแต่ผนัง หลังคา วัสดุปิดผิว เฟอร์นิเจอร์ ถนน ทางเดินเท้า และส่วนตกแต่งพื้นที่สีเขียวของโครงการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” หรือ Circular Economy การนำผลิตภัณฑ์และวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำเพื่อทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง

การสร้างเครือข่ายนี้เป็นการทำงานผ่านศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับนานาชาติ ภายใต้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติอย่าง MQDC โดยได้สร้างแนวร่วมทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายทางสาขาวิชา จำนวนกว่า 10 แห่ง เพื่อพัฒนาวัสดุ upcycled ให้เกิดการใช้งานได้จริงอย่างครอบคลุม เพื่อความยั่งยืนของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย คุณวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC กล่าว  

“ช่วง 10 ปี เราลงทุนมากกว่า 6 พันล้านบาท และเล็งเห็นว่า Upcycling คืออีกหนึ่งกุญแจสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงความยั่งยืนของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย จึงเพิ่มจำนวนวัสดุที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้เป็นองค์ประกอบอาคารให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน” คุณวิสิษฐ์กล่าว

“หลังจากที่เราได้ร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในการแปรรูปขยะพลาสติกให้เป็นวัสดุที่มีมูลค่าได้ไม่น้อยกว่า 160 ตัน ตอนนี้เราจึงกำลังขยายศักยภาพในด้านนี้ด้วยการเสริมพันธมิตรในการ upcycling เพิ่มในส่วนต่างๆ อาทิ ผนัง หลังคา ผลิตภัณฑ์สี พรมปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ในสวน ถนน ขอบทางเดินเท้า และทางเดินเท้า”

“RISC ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของ MQDC ช่วยผลักดันแนวคิดให้เกิดการผสานการใช้วัสดุ upcycle ในโครงการจริง ด้วยการทำงานร่วมกับบริษัท ดีที ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบของกลุ่มบริษัทดีที ในการนำความรู้จากงานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีครบด้าน และการใช้วัสดุ upcycle ผสานเข้ากับการออกแบบอาคาร โดยจะเกิดโครงการแรกขึ้น ณ ดีทีจีโอ แคมป์อัส หรือ DTGO Campus (โครงการออกเสียงว่า แคมป์-อัส) พื้นที่กว่า 20,000 ตารางเมตร สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของกลุ่มบริษัทดีที (DTGO) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ MQDC”

รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC กล่าวว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของวัสดุ upcycle

“เราวางแผนการพัฒนาและใช้วัสดุ upcycle ในส่วนวัสดุภายนอกอาคารก่อนเป็นอันดับแรก และพัฒนาวัสดุที่เป็นโครงสร้างเป็นอันดับต่อไป และจะพัฒนาวัสดุจากนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำถึงพันธกิจของ MQDCนั่นคือ ‘for all well-being’ ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของเราในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของทุกสรรพสิ่งบนโลก” รศ. ดร. สิงห์ กล่าว

"การทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธ.) รวมถึง องค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ เรามุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้าน upcycling ในประเทศไทยและเอเชียผ่านการคิดค้นนวัตกรรม ใหม่ ๆ  โดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC จะดำเนินการจัดงานสัมมนาและการบรรยายเพื่อให้ความรู้และสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพ"

ปัจจุบันเครือข่ายพันธมิตร upcycling ประกอบด้วยบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทโอซิซุ จำกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธ.) องค์กร Trash Hero Pattani (ฮีโร่ผู้พิชิตขยะแห่งปัตตานี) บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด เดอะคาร์เปต เมกเกอร์ (The Carpet Maker) และบริษัทซี แอนด์ แลนด์ คอร์ปอเรชัน จำกัด