เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

"ไทย" แหล่งปลูกกัญชาพันธุ์ดี ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สูง เผยมูลค่าผลิตภัณฑ์จากกัญชาทั่วโลกมีกว่า 4.6 ล้านล้านบ. เปิดแผน "อภ." เพื่อวิจัยสารสกัดและพัฒนา

จากการที่ องค์การเภสัชกรรม ได้รับมอบกัญชาของกลาง จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) จำนวน 100 กิโลกรัม เพื่อนำมาใช้วิจัยและพัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งคาดว่าในเดือน ธ.ค.2561 จะสามารถสารสกัดเข้มข้นได้ 10-15 ลิตร ผลิตเป็นน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นได้ 1.8 หมื่นขวด เพื่อรอวิจัยในคนหากกฎหมายคลายล็อกให้สามารถทดลองในคนได้นั้น อภ. มีการวางแผนรองรับการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นและเข้มงวด

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การยกระดับการวิจัยและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชาไปสู่ระดับอุตสาหกรรม อภ.จะดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ การปลูกตามมาตรฐาน GAP จนถึงผลิตเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ สำหรับใช้รักษาโรคต่างๆ และได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อขออนุญาต อย.ในการครอบครองกัญชาของกลางในปริมาณจำนวนหลายๆ ตันต่อปี เพื่อทยอยทำเป็นสารสกัดเข้าสู่ระบบการวิจัยทางคลินิกให้เพียงพอ โดยการศึกษาวิจัยกัญชาจากของกลางนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย และพัฒนากัญชาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ การปลูก จนได้ผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบในรายละเอียดของการปรับปรุงพื้นที่สำหรับปลูก และพื้นที่ห้องปฏิบัติการวิจัย

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ จะร่วมมือและต่อยอดผลงานวิจัยกับเครือข่ายงานวิจัยสาขาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมคัดเลือกสายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคพืช และให้ได้สารสำคัญที่ออกฤทธ์ในการรักษาโรคต่างๆ โดยต้องมีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญเป็นมาตรฐานตามความต้องการทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีการสกัดที่ทันสมัยต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการสกัดสารสำคัญจากกัญชา เพื่อให้ได้กระบวนการสกัดที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยังคงคุณภาพสารสกัดที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จนเป็นสารสกัดกัญชาต้นแบบทางการแพทย์ต่อไป

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

อีกทั้ง วิจัยและพัฒนาต่อยอดสูตรตำรับยาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีรูปแบบต่างๆ เหมาะสมกับการนำไปใช้รักษาโรคแต่ละชนิด ในรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำมันหยดใต้ลิ้น, แผ่นแปะผิวหนัง, ยาเหน็บ, ครีมและแคปซูล เป็นต้น และจะขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม ศึกษาวิจัยสำหรับโรคต่างๆ ซึ่งเป็นการทดสอบในคน เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความปลอดภัย และประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา และรวบรวมข้อมูลสำหรับขึ้นทะเบียนจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนที่จะนำไปผลิตออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างกว้างขวางต่อไป โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเป้าหมายตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากกัญชา จะสามารถเข้าถึงยาจากสารสกัดกัญชาขององค์การเภสัชกรรมเพื่อรักษาโรค เมื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยทางด้านคลินิกเหล่านั้น

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

ส่วนการเตรียมการผลิตในระดับอุตสาหกรรมนั้น องค์การเภสัชกรรมมีแผนในเบื้องต้น โดยในระยะแรกนั้นจะดำเนินการผลิตวัตถุดิบสารสกัดกัญชาที่องค์การเภสัชกรรม พระราม 6 ไปก่อน หลังจากนั้นจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยใช้พื้นที่ขององค์การเภสัชกรรมเอง ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่โรงเรือนเพาะปลูก และก่อสร้างโรงงานผลิตสารสกัดสำหรับผลิตวัตถุดิบสารสกัดกัญชาอย่างครบวงจร และส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชานั้นจะผลิตที่องค์การเภสัชกรรม พระราม 6 กรุงเทพฯ

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

ขณะที่ ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า แผนการวิจัยและพัฒนาตลอดจนผลิตยาจากกัญชาครบวงจรขององค์การเภสัชกรรมประกอบด้วย 1.วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสกัด ในเดือน ธ.ค.2561 ได้สารสกัดกัญชาจากของกลาง 2.ปรับปรุงสายพันธุ์และพัฒนาการปลูก ภายในเดือน มี.ค.2562 เริ่มดำเนินการและใช้เวลามากกว่า 2 ปี 3.วิจัยและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชา หากกฎหมายปลดล็อกให้ใช้กัญชาทดลองในคนได้ เดือน พ.ค.2562 จะใช้ผลิตภัณฑ์ยาต้นแบบน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นศึกษาในคน 4.ผลิตยาในระดับอุตสาหกรรม คาดว่าราวเดือน ธ.ค.2563 ในระยะแรกเริ่มจากวัตถุดิบของกลาง เมื่อได้รับทะเบียนยา และ 5.ผลิตยาที่โรงงานหนองใหญ่ โดยใช้งบประมาณปี 2562 ศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกและผลิตยาในระดับอุตสาหกรรม

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

ในการศึกษาวิจัย องค์การเภสัชกรรมเตรียมความพร้อมในหลายด้าน ได้แก่ 1.ความพร้อมด้านมาตรการความปลอดภัย มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด มีระบบการเข้า-ออกของพื้นที่ที่ใช้ในการศึกษาวิจัยสารสกัดกัญชาที่รัดกุมและเข้มงวดตลอดเส้นทางที่จะกัญชาผ่าน ตั้งแต่ห้องปฏิบัติการกลุ่มวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรม ห้องเก็บตัวอย่างวัตถุดิบ สารสกัด และผลิตภัณฑ์กัญชาที่รัดกุม จัดเก็บวัตถุดิบในตู้ล็อกปลอดภัย

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

และ 2.ความพร้อมด้านวิจัยและพัฒนาสารสกัดและพัฒนาสูตรตำรับ โดยในส่วนของกัญชาของกลางจำนวน 100 กิโลกรัม คาดว่าจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น ประมาณ 1.8 หมื่นขวด สำหรับใช้ในการศึกษา ความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ และการศึกษาทางคลินิกนำร่องในผู้ป่วยที่เป็นโรคบางชนิด อาทิ แก้คลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยคีโม ลดอาการปวดที่รุนแรง และลมชักที่ดื้อต่อการรักษา เป็นต้น

เปิดแผน 'อภ.' วิจัย 'กัญชา' สู่ประโยชน์ทางการแพทย์

รศ.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า ในอนาคตจะเลี่ยงยาที่มาจากกัญชาไม่พ้น หากประเทศไทยไม่มีการเตรียมการในการผลิตภายใน จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงมาก โดยน้ำมันกัญชา 1 ซีซีหรือ 5 หยด จะมีราคาถึง 1,000 บาท สำหรับในประเทศไทยสามารถปลูกกัญชาได้สายพันธุ์ที่ดีมีสารสำคัญที่จะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์สูง โดยไม่จำเป็นต้องปลูกในโรงเรือนติดแอร์แต่สามารถปลูกในพื้นที่เปิดได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยจะถูกกว่าต่างประเทศ โดยขณะนี้ประเทศออสเตรเลียประกาศแล้วว่าจะเป็นผู้นำในการส่งออกยาที่ผลิตจากกัญชา และมูลค่าของผลิตภัณฑ์จากกัญชาทั่วโลกมีกว่า 4.6 ล้านล้านบาท