'ทราเวลโลกา’ติดเครื่อง ท่องเที่ยวยุคบิ๊กดาต้า

'ทราเวลโลกา’ติดเครื่อง ท่องเที่ยวยุคบิ๊กดาต้า

“ทราเวลโลกา”แชร์ความสำเร็จจาก “บิ๊กดาต้า” ส่งให้ขึ้นแท่นผู้นำด้านโมบายเว็บของธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและสายการบิน ชู 3 เมกะเทรนด์เปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยว ได้แก่ โมบายออนไลน์์ สินค้าหรือบริการที่เกิดจากบิ๊กดาต้าและบริการเฉพาะบุคคล

คอนเฟิร์มความเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ด้วยสถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์ Traveloka ระหว่าง มิ.ย.-ส.ค.นี้ กว่า 5 ล้านคน โดยทราฟฟิคแชร์ของบริษัท 51.2% มาจากการให้บริการผ่านมือถือ และ 48.8% จากผู้ใช้บริการผ่านทางเดสก์ท็อป ทั้งยังคาดการณ์ว่าในระหว่างปี 2558-2568 ธุรกิจท่องเที่ยวผ่านบริการออนไลน์จะเติบโตถึง 5 เท่าซึ่งเป็นผลจากการนำบิ๊กดาต้ามาใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อธุรกิจ รวมถึงการบริหารงานรูปแบบอื่นๆ ให้กับลูกค้า เช่น การท่องเที่ยวก่อนจ่าย ดูแลลูกค้ายามเกิดเหตุภัยพิบัติโดยการเตือนภัย เป็นต้น

“โมบายล์ออนไลน์”ครองโลก

ธีร์ ฉายากุล ผู้จัดการบริษัท Traveloka (ทราเวลโลกา) ประจำประเทศไทย ผู้ให้บริการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักออนไลน์ กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “การท่องเที่ยวในยุคดิจิทัล” ในงานดิจิทัลไทยแลนด์ บิ๊กแบง เมื่อเร็วๆ นี้ี่่ โดยหยิบ 3 เมกะเทรนด์มานำเสนอซึ่งจะเปลี่ยนโฉมการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวอย่างคาดไม่ถึงภายใน 5-10 ปีนับจากนี้ ได้แก่ โมบายล์/ออนไลน์เทรนด์ นวัตกรรมสินค้าหรือบริการที่เกิดจากดิจิทัลหรือบิ๊กดาต้าและบริการเฉพาะบุคคล โดยทางบริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มจากโมบายล์/ออนไลน์์ เป็นผลจากการใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ขณะที่การใช้เครื่องพีซีลดลงเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่เกิดจากสมาร์ทโฟนคือความสบายปลายนิ้ว จึงเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะนำสินค้าและบริการของตนเองเข้าไปในโมบายหรือออนไลน์ให้มากที่สุด เพื่อให้ใกล้มือผู้บริโภคที่สุด

ขณะที่เทรนด์ถัดมา นวัตกรรมสินค้าหรือบริการที่เกิดจากดิจิทัลหรือบิ๊กดาต้ามีโอกาสเกิดมากขึ้นจากในอดีตไม่มีใครกล้าลงทุน เพราะไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่มากและลึกพอ ตามมาด้วยเรื่องของบริการที่ให้ประสบการณ์ที่ดีขึ้น เหมาะกับแต่ละบุคคล เกิดเป็นเทรนด์เรื่องของการทำบริการเฉพาะคนที่ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อวิเคราะห์และจัดให้ตรงกับความต้องการของบุคคลนั้น

“ทราเวลโลกาก็ใช้บิ๊กดาต้าหลายรูปแบบ ตั้งแต่เรื่องของธุรกิจอัจฉริยะ การวิเคราะห์ การพัฒนาบริการเฉพาะคน การตรวจสอบเอกสารปลอม การทำโฆษณาหรือการขายพ่วงบริการอื่นๆ ที่ทำให้ตรงกับความต้องการ หรือมากกว่านั้น ยกตัวอย่างการใช้บิ๊กดาต้าในการทำฟังก์ชั่น Autocomplete Search, บริการ PayLater และการให้ความช่วยเหลือเมื่อนักท่องเที่ยวตกอยู่ในพิบัติภัยธรรมชาติ"

ยกตัวอย่าง สิ่งที่ผู้สืบค้นข้อมูลต้องการคือ ความถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสม การที่ระบบจะทายว่า คนจะสืบค้นอะไรจากการพิมพ์ไม่กี่ตัวอักษร เพื่อประมวลผลให้เร็วที่สุดและตรงใจผู้สืบค้นที่สุด จำเป็นต้องใช้บิ๊กดาต้าเข้ามาช่วย โดยในส่วนของทราเวลโลกาดูจากข้อมูลที่เป็นที่นิยม (Popularity Data) จากนั้นจะใช้ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) เพื่อประมวลผลให้นำเสนอผลสืบค้นที่แม่นยำที่สุด

ส่องพฤติกรรมประเมินเครดิต

ส่วน PayLater เป็นบริการที่เริ่มในอินโดนีเซีย เกิดจากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องใช้เงินมาก นักท่องเที่ยวต้องเก็บหอมรอมริบมานาน การจะกระตุ้นให้ท่องเที่ยวมากขึ้นก็ต้องเปิดให้มีการใช้เงินอนาคตในดอกเบี้ยที่เหมาะสม ฉะนั้น PayLater จึงเป็นบริการที่ใช้บิ๊กดาต้าจากข้อมูลที่ลูกค้าใช้ในการจ่ายเงิน โซเชียลมีเดียและข้อมูลจากภาครัฐ โดยนำมาวิเคราะห์เครดิตความน่าเชื่อถือ เพื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ย หากเครดิตดี ความเสี่ยงต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ แต่หากเครดิตไม่ดี ความเสี่ยงสูง ดอกเบี้ยก็จะสูงตาม

บิ๊กดาต้าที่ช่วยนักท่องเที่ยวระหว่างพิบัติภัยธรรมชาติ เช่น ภูเขาไฟระเบิดที่บาหลีเมื่อไม่นานมานี้ มีการปิดสนามบิน และนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จะทำอย่างไรต่อไป ทราเวลโลกาจึงเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ท่องเที่ยว โซเชียลมีเดียและข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐมาประมวลผลและสื่อสารเรื่องของสถานการณ์ การเดินทาง การเปลี่ยนแผนการเดินทาง ฯลฯ ไปถึงลูกค้าที่ใช้แพลตฟอร์มของตนผ่านทางอีเมล์ หรือ Push Notification แทนที่จะต้องกดโทรศัพท์ติดต่อสอบถามทีละสายการบินดังในอดีต ซึ่งในช่วงวิกฤตินี้ก็ยากมากที่จะโทรติด แต่บิ๊กดาต้าจะมาเป็นตัวช่วยสำคัญ

“จากนี้ต่อไป บริษัทหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ต้องเริ่มคิดและมองหาวิธีใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและบิ๊กดาต้า เพื่อให้ธุรกิจเติบโต จากสินค้าและบริการที่เข้าถึง ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น” ธีร์ กล่าว