คสช.เตรียมตั้งสำนักงานป.ย.ป. แบ่งเบางาน 'นายกฯ'

คสช.เตรียมตั้งสำนักงานป.ย.ป. แบ่งเบางาน 'นายกฯ'

คสช.หารือเตรียมตั้ง “สำนักงานป.ย.ป.” ด้าน “สรรเสริญ” แจงไม่มีอำนาจสั่งการ รบ. อนาคต แค่ประสานงานเท่านั้น

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.61 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ที่ประชุมคสช.หารือเรื่องกลไกการขับเคลื่อน และการปฏิรูปประเทศ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นห่วงว่าเรื่องดีๆที่รัฐบาลและ คสช. ได้เริ่มต้นไว้ เมื่อสิ้นสุดรัฐบาลนี้จะไม่ได้อยู่ถาวร ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ การเร่งรัดยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมถึงนายกฯคนใหม่จะรับภารกิจเหล่านี้ไหวหรือไม่ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีการเสนอจัดตั้งสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้ทำหน้าที่บูรณาการ กลั่นกรองข้อมูล เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการตรวจสอบข้อร้องเรียน ที่กระทรวงอาจจะไม่ได้ทำตามแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูป เป็นต้น และช่วยเหลือกระทรวงต่างๆ เนื่องจากบางเรื่องกระทรวงกลัวว่าจะมีการก่อม็อบเคลื่อนไหว จึงขอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาติดตามรับฟังและอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ก่อนที่ข้อมูลต่างๆเหล่านี้จะไปถึงนายกฯ ทั้งนี้สำนักงานดังกล่าวไม่มีอำนาจสั่งการ มีเพียงการติดตามผลประสานงาน และช่วยแก้ปัญหาในบางเรื่องเท่านั้น

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า การตั้งสำนักงานดังกล่าว เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันนายกฯเหมือนทศกัณฐ์ ควบคุมหน่วยงานต่างๆและคณะกรรมการจำนวนมาก เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) คณะกรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล (คตน.) สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้จะรายงานข้อมูลต่างๆโดยตรงไปยังนายกฯ จึงควรมีสำนักงานขึ้นมากำกับดูแลหน่วยงานย่อยๆเหล่านี้

“โดยในที่ประชุมคสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อธิบายเพียงหลักการว่าสำนักงานดังกล่าวจะเป็นหน่วยงานในลักษณะของกรม มีข้าราชการจำนวนไม่มาก เพื่อติดต่อประสานงานซึ่งเขาให้อำนาจนายกฯ สามารถนำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นต้น ไปทำงานในสำนักงานใหม่ได้ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้ถูกยุบไปแล้ว แต่ยังมีเจ้าหน้าที่อยู่ โดยหัวหน้าหน่วยงานจะเป็นระดับซี 11 แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงว่าจะเป็นใคร และหลังจากนี้ที่ประชุมได้ให้นายวิษณุไปดูรายละเอียดการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าวจะยังไม่ออกเป็นมาตรา 44 ” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว