'ปตท.สผ.-เชฟรอน' ชิงประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช

'ปตท.สผ.-เชฟรอน' ชิงประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกช

"ปตท.สผ.-เชฟรอน" ชิงประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ-บงกช ทั้งสองแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซฯ ที่มีความสำคัญกับประเทศกำลังจะสิ้นอายุสัมปทานปี 2565 กระทรวงพลังงานจึงได้สั่งให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 ขณะเดียวกัน มีการปรับแก้กฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียมโดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างบริการ (SC) ไปด้วยนอกเหนือจากระบบสัมปทาน พร้อมทั้งการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับ ซึ่งผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ มาเป็นลำดับ

ในส่วนของขั้นตอนการเปิดประมูล กระทรวงพลังงานได้เริ่มประกาศเชิญชวนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 ซึ่งภายหลังจากมีผู้สนใจทั้งจากประเทศในแถบยุโรป สหรัฐฯ จีน ไทย และประเทศในแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd. บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โอเอ็มวี แอคเทียนวีเซลสคาฟท และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101, Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัท OMV Aktiengesellschaft จากประเทศออสเตรีย และบริษัทจากจีน ซึ่งก็คือ กิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 , Haicheng Petroleum Machinery Manufacture Group, AL Jaber group ได้ถอนตัวจากการประมูล เนื่องจากแหล่งเอราวัณ-บงกชมีความซับซ้อน และดำเนินการยาก ต้องอาศัยความคุ้นเคยและความชำนาญในพื้นที่จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้น จึงเหลือบริษัทที่แสดงความจำนงและผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการดำเนินงานในแปลง G1/61 (เอราวัณ) จำนวน 4 ราย ได้แก่
1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd.
2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited
3. บริษัท Total E&P Thailand
4. บริษัท MP G2 (Thailand) Limited
แปลง G2/61 (บงกช) จำนวน 3 ราย ได้แก่
1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd.
2. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited
3. บริษัท MP L21 (Thailand) Limited

หลังจากนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดห้อง Data Room ให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้ศึกษาข้อมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(เอราวัณ) และ G2/61 (บงกช) อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ

สำหรับในวันที่ 25 กันยายน 2561 กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ ใน TOR เพื่อขอรับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติ ทั้ง 2 แปลง ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องยื่นเอกสารจำนวน 4 ซองด้วยกันประกอบด้วย

ซองที่ 1 เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย
ซองที่ 2 เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน
ซองที่ 3 เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมการ แผนงานการสำรวจ และ แผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม
ซองที่ 4 เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย
ซึ่งหลังจากยื่นซองแล้วจะใช้เวลาเพื่อพิจารณาหาผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะสามารถนำเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลไปยังคณะรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2561

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวันนี้มีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะผู้ดำเนินงาน แปลง G1/61 จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ร่วมกับ บริษัท MP G2 (Thailand) Limited (บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด)
2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด)

แปลง G2/61 จำนวน 2 ราย ได้แก่
1. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited (บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด)
2. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. (บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด) ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Company Ltd. (บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น
คัมปานี ลิมิเต็ด)

ทั้งนี้ การดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ อย่างโปร่งใส และมีการเปิดเผยทุกขั้นตอนต่อสาธารณชนผ่านสื่อ และเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาโดยตลอด โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าประเทศและประชาชนจะมีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่องในราคาที่ไม่แพง