ธพว. ตัดขาย NPLs 6,500 ล. เพิ่มขีดความสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ 2 เท่า

ธพว. ตัดขาย NPLs 6,500 ล. เพิ่มขีดความสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ 2 เท่า

เอสเอ็มอีแบงก์ พร้อมเปิดขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกว่า 6,500 ล้านบาท ดึงกลับมาเป็นทุนปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดีได้ 2 เท่า วางกระบวนการแข่งขันเสมอภาคโปร่งใสเปิดทางผู้ซื้อผ่อนจ่ายได้ 3 ปี ประเดิมรอบแรก 25 ก.ย. นี้

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนดอัตราส่วนการดำรงกองทุนขั้นต่ำต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Total capital ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 ขณะที่ ธพว. อยู่ที่ร้อยละ 11.27 ซึ่งถือเป็นระดับที่มีความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบกำกับดูแลดังกล่าว การมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ค้างอยู่ในระบบ ย่อมทำให้เสียโอกาสในการปล่อยสินเชื่อใหม่คุณภาพดี ดังนั้น ธพว. ได้เปิดจำหน่ายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มูลค่ารวมกว่า 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารที่ถูกจัดเป็นสินทรัพย์จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ชั้นสงสัยจะศูนย์ หรือสินทรัพย์จัดชั้นศูนย์ ตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเป็นลูกหนี้ที่หยุดดำเนินกิจการหรือเลิกกิจการหรือประวิงเวลาการชำระหนี้หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้การขายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับธนาคารโดยจะช่วยให้อัตรากองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารดีขึ้นในขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้ธนาคารมีความสามารถระดมเงินทุนเพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยกว่า2 เท่าจากมูลค่า NPLs ที่จำหน่ายออกไป

ทั้งนี้ ได้เริ่มเปิดจำหน่าย NPLs รอบแรก ในวันที่ 25 กันยายน 2561 วงเงินรวมกว่า 4,200 ล้านบาทจัดกองออกเป็น 3 ประเภท คือ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน แยกตามพื้นที่ตั้งหลักประกัน จำนวน 5 กอง จำนวน 190 ราย เงินต้น 1,515ล้านบาทมูลค่าหลักประกัน 2,694 ล้านบาท สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกัน 2 กอง แบ่งตามพื้นที่ จำนวน 4,125 ราย เงินต้น 2,177 ล้านบาท และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพกลุ่มสินเชื่อลิสซิ่งและเช่าซื้อ 1 กองจำนวน 945 รายเงินต้น1,165 ล้านบาทโดยการจำหน่ายคัดเฉพาะบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ที่มีกว่า 50 รายโดยกำหนดเข้าซื้อเอกสาร 26กันยายน - 9 ตุลาคม 2561กำหนดการตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน – 26 ตุลาคม 2561 (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) และกำหนดยื่นเอกสารเสนอราคาซื้อ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561ส่วนรอบสองที่เหลือจะเปิดจำหน่ายในช่วงต้นเดือนตุลาคมต่อไป

“การขายสินทรัพย์ครั้งนี้ มีความน่าสนใจที่เป็นทรัพย์ลูกค้าธุรกิจผ่านกระบวนการของศาลมาแล้ว สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมายหรือซื้อเพื่อดำเนินธุรกิจต่อได้รวมถึงจัดเป็นกองเล็กๆ มูลค่าไม่สูงโดยใช้วิธีการเปิดประมูล และที่สำคัญ สามารถชำระเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือชำระแบบเงินผ่อนได้ โดยมีธนาคารอาวัล ภายใน 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ประเภทลูกค้าสถาบันอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเฉลี่ยของ 4 ธนาคาร (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย)ซึ่งกระบวนการดังกล่าว เอื้อให้เกิดการแข่งขันที่เปิดกว้างและเสมอภาค” นายมงคล กล่าว

สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เปิดจำหน่ายครั้งนี้ ส่วนมากเป็นลูกหนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2558 ดังนั้น เมื่อจำหน่ายออกไปแล้ว จะช่วยให้ธนาคาร ลดภาระด้านบริหารจัดการติดตามหนี้ รวมถึง ลดหนี้ NPLs ซึ่งปัจจุบัน อยู่ที่ระดับร้อยละ 19 เหลือประมาณร้อยละ 15 และภายในปีหน้า (2562) ตั้งเป้าลด NPLs เหลือไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้น ช่วยให้สถานะทางการเงินของธนาคารมีความมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก