ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 24 - 28 ก.ย. 61

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 24 - 28 ก.ย. 61

ราคาน้ำมันดิบคาดจะได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ และอุปทานจากโอเปคที่เพิ่มขึ้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68 -73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76 – 81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

                                               

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 - 28 ก.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบคาดจะปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ หลังอุปสงค์ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามฤดูกาล นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตจากกลุ่มโอเปคยังได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุมโอเปคในเดือน มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ประกอบกับ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตจากประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลา ที่มีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังทั้งสองประเทศเผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้ปรับลดลงติดต่อกันกว่า 5 สัปดาห์ โดยคาดว่าปริมาณการกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแคนาดาและตะวันออกกลาง โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงเหนือ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันอย่างต่อเนื่อง หลังอุปสงค์โตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่มีราคาต่ำกว่าน้ำมันดิบชนิดอื่น
  • การผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตติดต่อกันกว่า 3 เดือนแล้ว โดยรายงานล่าสุดจากโอเปคเผยปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคในเดือน ส.ค. 61 ที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 32.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากเดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมากว่า 440,000 บาร์เรลต่อวัน หลังซาอุดิอาระเบีย อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรับปริมาณการผลิตขึ้นกว่า 680,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 61 ถึง เดือน ส.ค. 61
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นและคาดจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของโลกอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ  ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 10 กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย. นี้และภายในสิ้นปีจะเพิ่มอัตราภาษีดังกล่าวขึ้นเป็นร้อยละ 25 ส่งผลให้ทางด้านจีนมีการตอบโต้โดยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราภาษีร้อยละ 5 – 10 ในวันที่ 24 ก.ย.  โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กังวลว่าถ้าหากทั้งสองประเทศยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้จะส่งผลให้มีการประกาศใช้มาตรการอื่นนอกเหนือจากมาตรการทางการค้าเพิ่มเติม เช่น การห้ามบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ทำธุรกิจในจีน เป็นต้น ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้
  • ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรในเดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมา โดยล่าสุด ประเทศเกาหลีใต้ได้ปรับลดปริมาณการนำเข้าในเดือน ส.ค. 61 กว่าร้อยละ 85 จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่นในญี่ปุ่นคาดจะรับน้ำมันดิบจากอิหร่านครั้งสุดท้ายในเดือน ต.ค. 61 ก่อนวันกำหนดการของสหรัฐฯ ในวันที่ 4 พ.ย. 61 ประกอบกับ ในเดือน ส.ค. 61 ที่ผ่านมาอินเดียก็ได้ปรับลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านกว่าร้อยละ 32 จากเดือนก่อนหน้า
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลายังคงปรับลดลงต่อเนื่อง หลังท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบหลักของเวเนซุเอลายังคงปิดดำเนินการอยู่ ส่งผลให้มีการใช้ท่าเรืออื่นซึ่งมีศักยภาพในการส่งออกน้อยกว่าแทน โดยคาดว่าท่าเรือหลักจะซ่อมบำรุงแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาในเดือน สค.61ปรับลดลงกว่าร้อยละ 7.7 จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 - 21 ก.ย. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.79 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 70.78 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 78.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 76.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 2.1 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ กำลังการผลิตของอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหลังหลายประเทศเริ่มลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียยังไม่มีทีท่าที่จะเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากต้องการคงราคาน้ำมันดิบไว้ที่ราว 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดัน จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน