วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (24 ก.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (24 ก.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น จากกังวลเรื่องอุปทานตึงตัว

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังตลาดยังคงกังวลอุปทานอาจตึงตัวมากกว่าที่คาด โดยนักวิเคราะห์จากธนาคาร ANZ คาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเร็วกว่าที่คิด ประกอบกับ อุปสงค์ที่เติบโตขึ้นในช่วงของฤดูหนาวอาจส่งผลให้ตลาดตึงตัวมากกว่าคาด

- นายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากดดันให้กลุ่มโอเปคปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อคลายความตึงตัวของตลาด ส่งผลให้กลุ่มโอเปคมีการหารือว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจากประเทศอิหร่านและเวเนซุเอลา

+ ปริมาณแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯ ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่สองสู่ระดับ 866 แท่น หลังปริมาณการผลิตในแหล่งน้ำมันดิบ Permian ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากกำลังการขนส่งน้ำมันดิบของท่อขนส่งที่จำกัด ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าในเดือน ต.ค. 61 ปริมาณการผลิตจากแหล่ง Permian จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 31,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันเบนซิน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกจากจีนคาดจะปรับตัวลดลงจากโควต้าที่จำกัด

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม อุปสงค์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาวและฤดูมรสุมที่จะจบลงในเร็วๆ นี้

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 76-81 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • การผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังได้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตมาติดต่อกันกว่า 3 เดือน โดยรายงานล่าสุดจากโอเปคเผยปริมาณการผลิตกลุ่มโอเปคในเดือน ส.ค. 61 ที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 32.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นและคาดจะส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของโลกอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 10 กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรในเดือน พ.ค. 61 ที่ผ่านมา
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลายังคงปรับลดลงต่อเนื่อง หลังท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบหลักของเวเนซุเอลายังคงปิดดำเนินการอยู่

---------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999