สั่งขึ้นท็อปไฟว์สายการบินปี65 'สมคิด' ขีดเส้น3เดือนฟื้นทีจี

สั่งขึ้นท็อปไฟว์สายการบินปี65 'สมคิด' ขีดเส้น3เดือนฟื้นทีจี

ระดมพันธมิตรธุรกิจ "กรุงไทย-ทอท.-ปตท.-ททท." อุ้มการบินไทย "สมคิด" ขีดเส้น3เดือนฟื้นทีจี สั่งขึ้นท็อปไฟว์สายการบินภายในปี 2565

ชัดเจนขึ้นสำหรับการซื้อเครื่องบินฝูงใหม่และแผนการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลังการเข้ามากำกับดูแลด้วยตัวเองของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) ในงานเสวนา “สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน” นอกจากนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม แล้วยังมีทีมผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารกรุงไทย ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

นายสมคิดกล่าวในฐานะประธานงานเสวนาฯระบุว่า ภาครัฐอยากเห็นความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจแสดงพลังที่จะช่วยขับเคลื่อน โดยอุตสาหกรรมการบินในปัจจุบันแข่งขันอย่างรุนแรง สายการบินที่ไม่สามารถคุมต้นทุนได้ก็จะได้รับผลกระทบก่อน ดังนั้นปัญหาที่การบินไทยเผชิญอยู่ในเรื่องของต้นทุน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข จะต้องสรุปให้ได้ถึงต้นตอของต้นทุนที่กำลังเผชิญอยู่ เกิดขึ้นจากต้นทุนการจัดซื้อ หรือต้นทุนการขนส่งอื่นๆ โดยให้เวลาการบินไทยเร่งดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

“ต้องสู้ที่ยุทธศาสตร์และการหารายได้ เครื่องบินต้องดี การวางรูทต้องให้เสร็จตอนนี้ เพื่อตัดสินใจในการซื้อฝูงบิน จะซื้ออะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ต้องชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้ ฝากให้ทั้งการบินไทย และกรุงไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย เพราะผมรอมานานกว่า 10 ปีแล้ว”

นอกจากนี้ การบินไทยจะต้องให้ความสำคัญการพัฒนาจุดแข็งที่มีอยู่ พัฒนาการฝึกอบรมพนักงานใหม่ ต้องสร้างมาตรฐานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งรักษามาตรฐานของอาหารเสิร์ฟบนเครื่องบิน

นายสมคิดกล่าวว่า ยังมีความหวังกับการเป็นสายการบินชั้นนำของการบินไทย เพราะได้เห็นถึงแผนยุทธศาสตร์ที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เล็งเห็นว่ายังมีโอกาสอีกมาก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไปได้ดี หากเทียบกับเมื่อหลายปีก่อน และเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนก็กำลังเติบโต ทั้งหมดนี้จึงเป็นโอกาสของการบินไทย ขณะเดียวกัน เป้าหมายของการก้าวเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะทำให้การบินไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป้าหมายนี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยต่อเนื่อง 45 – 50 ล้านคนต่อปี รวมทั้งเที่ยวบินเข้ามาใช้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูงหลายแสนเที่ยวต่อปี

“เราจะเข้าสู่การเลือกตั้ง ให้เวลาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา สิ่งเหล่านี้ผมพูดจริงๆ ไม่ได้พูดเล่นๆ อยากให้คำนึงด้วยว่าแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของรัฐบาล แต่ยังเป็นเวลาเหลือเฟือสำหรับการโยกย้าย ดังนั้นต้องทำให้ได้ อย่าคิดว่าเป็นของรัฐบาลแล้วเจ๊งไม่ได้”

นายสมคิดให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ได้สั่งการให้การบินไทยรื้อแผนฟื้นฟูกิจการใหม่และให้ส่งแผนกลับมาภายใน 30 วัน และดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ต้องชัดเจนรวมถึงแผนการจัดการด้านอาหาร หรือ catering ซึ่งครั้งนี้ถือว่า เอาจริงแล้ว เพื่อแก้ปัญหาให้การบินไทยเป็น The Best Natoinal Premium Airlines และให้ติด 1 ใน 5 อันดับของสายการบินทั่วโลกภายในปี 2565

เน้นจัดการ ”น้ำมัน-ค่าเงิน” ลดต้นทุน

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยกรณีการบินไทยที่กำลังประสบภาวะขาดทุนว่า มีนโยบายให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือในประเด็นต้นทุนการดำเนินงานคือต้นทุนเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยน โดยราคาน้ำมันที่ผันผวนขาขึ้นตั้งแต่ต้นปีจะมีความร่วมมือกับบริษัท ปตท. ที่จะให้คำแนะนำการบริหารจัดการและวางแผนซื้อน้ำมัน อีกเรื่องคือผลกระทบจากค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ตรงจุดนี้ให้ธนาคารกรุงไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแล

ทั้งนี้ การบินไทยขาดทุนทางด้านน้ำมันและค่าเงินรวมกันประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อปี ยังมี ทอท.และ ททท.เข้ามาผนึกกำลัง แลกเปลี่ยนข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ในมิติของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงความร่วมมือการพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรองให้สอดรับกับกระทรวงพาณิชย์ในพัฒนาตลาด เพื่อเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย กล่าวว่า ความสำคัญของการจัดซื้อเครื่องบินใหม่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากการบินไทยยังจัดใช้เครื่องบินเก่า จะต้องแบกรับค่าซ่อมแซม การขาดทุน เข้าสู่วงจรบริการแย่ แข่งขันไม่ได้ และกระทบต่อส่วนแบ่งทางการตลาดที่จะหายไป แผนฟื้นฟูองค์กรของการบินไทย ได้ผ่านการเห็นชอบจาก คนร.แล้ว เหลือเพียงการปรับปรุงยุทธศาสตร์ให้เดินหน้าตามเป้าหมาย โดยประเด็นสำคัญก็คือการพิจารณาแผนจัดซื้อฝูงบิน โดยคำนึงจากเส้นทางบิน จุดเชื่อมต่อ ประเภท และจำนวนฝูงบินที่เหมาะสม ต้องยกระดับการบินไทยสู่เป้าหมายสายการบิน International Premium Airlines

“ต้องทบทวนแผนใหม่ คือ ไม่จำเป็นต้องเป็น 23 ลำ เพราะตอนนี้เราต้องกลับมาวิเคราะห์ทั้งเนตเวิร์ค รูทการบิน ระยะทางต้องสอดคล้องกัน ต้องทบทวนวงเงินแสนล้านใหม่ด้วย ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะใช้เท่าไหร่ และแหล่งเงินทุนใด เพราะยังไม่รู้ว่าจะต้องซื้อกี่ลำ ไม่รู้ว่าจะต้องซื้อล็อตเดียวหรือไม่ คงต้องศึกษาข้อมูลทั้งหมดก่อน ใน 3 เดือนนี้”

ทั้งนี้ การบินไทยยังจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ไปพร้อมกับความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งทางด้านการบินและการท่องเที่ยวใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง จะมีส่วนสนับสนุนธุรกิจการบิน ซึ่งการบินไทยสามารถนำนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าสู่เมืองรอง และ ททท. จะสนับสนุนทางด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 2.ด้านอุตสาหกรรมการบิน ในส่วนของการบินไทย มีเที่ยวบินเข้า - ออก ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมากที่สุด ดังนั้น หากได้ผนึกกำลังร่วมกับ ทอท.จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับในการขนส่งทางอากาศที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ และ 3. ด้านข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัล ด้าน Payment Gateway

ดีดีมุ่งเป้าพ้นขาดทุนภายในปี65

ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า หลังจากนี้การบินไทยจะต้องเดินหน้าไปด้วยดิจิตอล มาร์เกตติ้ง เพื่อเป้าหมายหลุดพ้นจากปัญหาขาดทุนสะสมในปี 2565 สำหรับการลงทุนซื้อเครื่องบินล็อตใหม่ หากจัดซื้อวันนี้อีกประมาณ 24 เดือนจึงจะได้รับมอบเครื่อง ส่วนแผนผลักดันเป้าหมายหยุดการขาดทุน และเติบโตอย่างยั่งยืนของการบินไทย กำหนดไว้ 5 ด้าน ABCDE ประกอบไปด้วย 1.Aggressive Profit สร้างการทำกำไรเชิงรุก 2.Business Portfolio บริหารภาพรวมกลุ่มธุรกิจ 3.Customer Experience สร้างประสบการณ์ลูกค้า 4.Digital Technologyใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และ 5.Effective Human Capital Management เสริมประสิทธิภาพบุคลากร และการบริหารเงินทุน

“การบินไทยมีเป้าหมายเพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน ใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิตอล มองแนวทางเพิ่มรายได้ใน 2 กลุ่มธุรกิจนอกเหนือการบิน (นอนคอร์) คือ 1.รายได้จากธุรกิจซ่อมบำรุง และ 2.รายได้จากธุรกิจครัวการบิน พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้นอนคอร์จาก 10% เป็น 15-20% ของรายได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันจะคงรักษาอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) ให้อยู่ในระดับ 80%”นายสุเมธกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ดูแลในเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องบินเพื่อเพิ่มศักยภาพให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ โดยไม่เข้าไปค้ำประกันการกู้เงินของการบินไทย ส่วนแผนการจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์เพราะเป็นเรื่องการลงทุน