กฎคุม “สื่อโซเชียล” ความหมายที่คลุมเครือ

  กฎคุม “สื่อโซเชียล” ความหมายที่คลุมเครือ

พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆภายในพรรคและสมาชิกพรรคของตน โดยผ่านวิธีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้”

ข้อความข้อที่6ของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ 13/2561 ซึ่งคลายล็อกพรรคการเมืองเพื่อดำเนินการใน9กิจกรรม ทว่าคำสั่งดังกล่าวตามมาด้วยข้อถกเถียงในเรื่องความหมายที่ยัง “คลุมเครือ” ว่ากิจกรรมใดบ้างที่ “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” 

ทันทีที่มีประกาศดังกล่าวออกมาเสียงจากพรรคการเมืองรวมถึงนักวิชาการต่างออกมาแสดงความกังวลในเรื่องนี้ว่าการที่ไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองที่จะประชาสัมพันธ์สื่อสารกับประชาชน เพื่อหา สมาชิกพรรคอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกตีความว่าการดำเนินการดังกล่าวเข้าข่ายการหาเสียง 

ยิ่งไปกว่านั้นในมุมของพรรคเพื่อไทยอาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรค มองว่า คำสั่งดังกล่าวถือเป็นการ“ล่ามโซ่” และประชาชนการห้ามสื่อสารโดยใช้โซเชียลมีเดีย โดยใช้คำว่า “ห้ามประชาสัมพันธ์” ถือเป็นการปิดหูปิดตาทั้งที่เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นภัยกับบ้านเมือง ขณะที่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาสะท้อนในประเด็นที่โดยเสนอให้คสช.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุปหรือออกกฎที่ชัดเจนในประเด็นนี้ 

ล่าสุด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันในเรื่องนี้ว่า “ในคำสั่งเขียนไว้ชัดเจนถ้าสงสัยอะไรให้ไปถามกกต.”

จนถึงขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอีกว่า ท้ายที่สุดแล้วใครจะต้องเป็นผู้ออกกฎที่ชัดเจนในเรื่องนี้ระหว่างคสช.และกกต.ดังนั้นพรรคการเมืองจึงกังวลว่า หากปล่อยให้เกิดการเช่นนี้ “ตีความหมายที่ยังคลุมเครือ”ก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการหาสมาชิกในช่วง 90 วัน คลายล็อกได้!