ศึกชิงเก้าอี้แม่ทัพ 'ปชป.'

ศึกชิงเก้าอี้แม่ทัพ 'ปชป.'

ที่เป็นมากกว่าเปลี่ยนตัวบุคคล พลันที่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คลายล็อกการเมืองเมืองประกาศออกมา สถานการณ์ทางการเมืองก็เริ่มคึกคักทันที

หลายๆพรรคเริ่มที่จะขยับตัวขึ้น เพื่อที่จะเปิดประชุมพรรคได้ รับสมัครสมาชิกเพิ่ม หรือเลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ก็ว่ากันไป แน่นอนว่า พรรคการเมืองที่ออกตัวแรงกว่าเพื่อนในช่วงนี้ก็คงหนีไม่พ้น “พรรคประชาธิปัตย์” แน่นอนนั่นก็คือ กระแสการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคนั่นเอง...

ชื่อของ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ คนนี้กลายเป็น หนึ่งคนที่น่าจับตามองมากๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. เป็นผู้อยู่เบื้องหลังดันหมอวรงค์ โดยไม่แปลกที่หลายๆคนจะมองเช่นนั้น หากยังจำกันได้ หมอวรงค์เอง ได้เกาะติดคดีจำนำข้าว และขึ้นเวที กปปส. พูดถึงความคืบหน้าของการเกาะติดนโยบายนี้อยู่บ่อยๆ จนได้รับฉายา “มือปราบจำนำข้าว” แถมยังเป็นที่คุ้นตาของมวลมหาประชาชน

แต่ด้านนายสุเทพ ก็ออกมาปฏิเสธแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่มีอำนาจแทรกแซงกิจการของพรรคสีฟ้าแห่งนี้

ถึงกระนั้นก็ยังมีกระแสข่าวอีกว่า อดีตรองหัวหน้าพรรค นายถาวร เสนเนียม เป็นผู้หนุน หมอวรงค์ให้ชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีเงื่อนไขว่าหากหมอวรงค์ ชนะการชิงเก้าอี้ นายถาวรจะต้องรั้งเก้าอี้เลขาธิการพรรค ประกอบกับอดีต ส.ส.ของพรรค ฟากที่เคยร่วมขบวนกับ กปปส. ก็ดันให้เปลี่ยนหัวหน้าพรรค แต่พวกเขาระบุว่าเพื่อปฏิรูปพรรค ไม่ได้ยึดพรรค

ซึ่งวิธีการเลือกนั่น จะต้องผ่านขั้นตอนการหยั่งเสียงจากสมาชิกพรรค โดยหลายๆคนมองว่าวิธีนี้ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน จะได้เปรียบเป็นอย่างมาก เพราะสมาชิกพรรคทั่วๆ ไป อาจไม่ได้อินการเมืองภายใน และรู้จักอภิสิทธิ์มากกว่า ซึ่งคนทั่วๆ ไป ก็คงเช่นนี้

แต่อย่าลืมว่า ด้วยคำสั่ง คสช. 53/60 ที่ติดล็อก ทำให้การยืนยันสมาชิกที่ผ่านมาไม่ได้ราบรื่น จากสมาชิก 2.9 ล้านคน เหลือ 9 หมื่นกว่าคน ที่จะมีสิทธิหยั่งเสียงได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกมาจากภาคใต้ และนายถาวรเอง ก็มีบทบาทสำคัญในการรวบรวมสมาชิกพรรคแถบนั้นด้วย

ในขณะเดียวกัน หนทางของหมอวรงค์ก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค ปชป. ก็คงยังออกตัวหนุนอภิสิทธิ์ อย่างเต็มที่เช่นกัน ถือเป็นคำพูดที่มีน้ำหนักพอสมควร แถมอดีต ส.ส. อาวุโสในพรรคหลาย ๆ ท่านหวั่นเกรง ว่าพรรคจะถูกควบคุม หรือถูกแทรกแซงจนเปลี่ยนจุดยืนของพรรค

ดังนั้นนี่อาจไม่ใช่แค่การเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเพื่อแก้เกมชนะการเลือกตั้ง แต่อาจเป็นเรื่องของจุดยืน ที่มาร์ค ไม่สนับสนุนหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. จะมาเป็นนายกฯสมัยต่อไป โดยไม่อิงเสียงประชาชนข้างมาก ขณะที่หมอวรงค์ หนุนรัฐบาล คสช. เต็มที่ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับอดีต กปปส. หลายๆ ท่าน

ต้องบอกที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นพรรคที่เก่าแก่มากๆ มากถึง 72 ปี และยังถือได้ว่าเป็นพรรคที่มีอายุยืนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทว่าตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำทัพของหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน กลับปราชัยให้คู่แข่งอยู่เสมอ แน่นอนแหล่ะว่า เมื่อเกิดปัญหานานๆ ก็ต้องเปลี่ยน และปฏิรูปพรรค.. แต่จะเปลี่ยนในแบบไหนกันนั้น ต้องจับตาดูอย่าได้คลาดสายตา เพราะ ปชป. คือพรรคขนาดใหญ่ ที่เป็นจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญในเกมการเมือง