‘ชาติแห่งนวัตกรรม’ เป้าหมายใหม่ไทยแลนด์

‘ชาติแห่งนวัตกรรม’ เป้าหมายใหม่ไทยแลนด์

เปิดแผนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” หรือ Innovation Nation ตามรอยอิสราเอล สวีเดน สหรัฐและฟินแลนด์ ชู 4 กลยุทธ์หลักเสริมแกร่งระบบนิเวศนวัตกรรม  วางกรอบระยะยาว 10 ปีเห็นผลเป็นรูปธรรม

นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” (Innovation Nation) หรือประเทศที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในหลายๆ ภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เช่น กระตุ้นการเติบโตของจีดีพีประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิต การสร้างงานในประเทศให้เพิ่มขึ้น ทั้งยังช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทั้งในระดับภูมิภาคและส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว


“รูปแบบการเป็นอินโนเวชั่นเนชั่นมี 2 รูปแบบคือ การนำนวัตกรรมพร้อมใช้มาขับเคลื่อนประเทศ และการเข้าไปร่วมสร้างนวัตกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งโมเดลนี้จะเห็นในอิสราเอล สวีเดน สหรัฐ และฟินแลนด์ ส่วนไทยก็จะใช้โมเดลนี้ในการขับเคลื่อนนวัตกรรม คาดว่าจะทำให้ก้าวสู่ประเทศอินโนเวชั่นเนชั่นได้สำเร็จใน 10 ปี”

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า การก้าวสู่ชาติแห่งนวัตกรรมของประเทศไทย จำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรม เอ็นไอเอจึงกำหนดเป้าหมายการพัฒนาและส่งเสริมระบบนวัตกรรมของประเทศใน 4 ด้านคือ มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ นวัตกรภูมิภาค นักรบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และกลไกสนับสนุนการเติบโตของนวัตกรรม 

1. มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ เป็นการปรับทิศทางของมหาวิทยาลัย ให้เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตที่มีทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ โดยการสร้างผู้ประกอบการที่เติบโตจากฐานความรู้และฐานงานวิจัย เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้และงานวิจัยไปขยายผล เกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม  

2. นวัตกรภูมิภาค จะเป็นกลไกที่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการภูมิภาค ผ่านโครงการ Regional Connect ของเอ็นไอเอ โดยทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

3. การเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นเสมือนนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง เอ็นไอเอได้พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพ ตั้งแต่การบ่มเพาะไอเดียทางธุรกิจ การเร่งการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด กลไกสนับสนุนด้านการเงินในลักษณะทุนให้เปล่า การเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่น การออกกฎหมายสนับสนุนการลงทุนและจ้างงานแรงงานทักษะและความรู้สูง การส่งเสริมการขยายลงทุนสู่ต่างประเทศ การเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเข้าถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ และการสนับสนุนวีซ่าชนิดพิเศษ เป็นต้น

4. กลไกสนับสนุนนวัตกรรมที่มีศักยภาพสูง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ไม่สามารถขยายผลหรือไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง เอ็นไอเอจึงมีกลไกสนับสนุนการเติบโต อาทิ โครงการนวัตกรรมตลาดที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการนวัตกรรมไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ, โครงการ MIND Credit ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงและใช้บริการจากบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ, โครงการนวัตกรรมดีไม่มีดอกเบี้ย เป็นการให้ทุนสนับสนุนในรูปแบบดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับขยายผลการลงทุน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะความสามารถและความเชี่ยวชาญทางนวัตกรรม


นายวีระพงษ์ กล่าวว่า จาก “ดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index) หรือ GII จัดทำโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกในปีล่าสุด ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่ที่ 44 ขยับอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้ว 7 อันดับ เรียกว่าเป็น “Innovation Fast Move” อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ได้แก่ การสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมสำหรับการจ้างงานของแต่ละองค์กร การให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลแก่สาธารณชน กองทุนด้านนวัตกรรมเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย สถาบันหรือองค์กรเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ต้องมีมากขึ้น โดยยังรวมไปถึงระบบการศึกษา หลักสูตรและบุคลากรด้านนวัตกรรมที่ต้องปรับตัวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนสู่อินโนเวชั่นเนชั่นนั้น การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เข้มแข็งด้านเดียวอาจยังไม่เพียงพอ เราจึงวางเป้าหมายที่จะสร้างการเชื่อมโยงไปสู่ภาคส่วนต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการประยุกต์ใช้ และยกระดับการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น